รองนายกฯ อนุทิน เปิดศูนย์ศึกษาจิตเวชศาสตร์ ภาคเหนือตอนล่าง รพ.จิตเวชพิษณุโลก

แบ่งปัน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก ดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิต จิตเวช และยาเสพติด ในภาคเหนือตอนล่าง และเป็นศูนย์ศึกษาด้านจิตเวชศาสตร์ แก่นักศึกษาแพทย์/ พยาบาล/ วิชาชีพ

วันนี้ (20 สิงหาคม 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดป้ายโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขร่วมพิธี และให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันทั่วโลกพบปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น จากสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ความเครียด ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต สำหรับประเทศไทยกรมสุขภาพจิตประเมินว่า มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับบริการ 10 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู รวมทั้งจัดระบบการดูแล บำบัดรักษาอย่างครบวงจร ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ดูแลเชื่อมโยงและมีระบบส่งต่อ ตั้งแต่ชุมชน โรงพยาบาลทุกระดับ โรงพยาบาลจิตเวช และสถาบันเฉพาะทาง ระบบการให้คำปรึกษาสายด่วน 1323 ซึ่งโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก เป็นโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการล่าสุด และอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดอีก 1 แห่งคือโรงพยาบาลจิตเวชหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ขอให้ประชาชนเปิดใจยอมรับว่า ปัญหาหรือโรคทางจิตเวชหลายโรคสามารถรักษาให้หายได้ ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเข้าใจและดูแลผู้ป่วยให้กินยาอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนมีสุขภาพจิตดี จะส่งผลต่อการมีสุขภาพกายที่ดี จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษา เพิ่มรายได้ ประชาชนแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง” นายอนุทินกล่าว

ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีสถาบันเฉพาะทางพัฒนาและถ่ายทอดวิชาการงานสุขภาพจิตและจิตเวช 8 แห่ง มีโรงพยาบาลจิตเวชให้บริการสุขภาพจิตครอบคลุมทั่วประเทศจำนวน 12 แห่ง และมีศูนย์สุขภาพจิต เป็นศูนย์วิชาการ ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินด้านสุขภาพจิตชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบ ครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ สำหรับโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการบำบัดรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยโรคทางจิตเวช และมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ให้บริการประชาชนในภาคเหนือตอนล่าง (เขตสุขภาพที่ 2) ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นสถานที่ให้การศึกษาทางจิตเวชศาสตร์แก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ มีผู้รับบริการเดือนละ 300 – 400 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคทางจิตเวช ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder)