ม.นเรศวร สร้างเครื่องมือช่วยวินิจฉัยสำหรับแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล ผ่านเครือข่าย 5G

แบ่งปัน

คณะแพทย์มหาวิทยาลัยนเรศวร โชว์ผลงานวิจัย การแพทย์ทางไกลในชนบท (Telemedicine) ด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 5G โดยนำการแพทย์มาผนวกกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้ประโยชน์ต่อการปรึกษาระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับบุคลากรทางการแพทย์ในชนบท เหมือนได้นั่งตรวจคนไข้ห้องเดียวกัน ทำให้การปรึกษาระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับแพทย์ในชนบทที่อยู่ห่างไกลในภาวะฉุกเฉินสามารถทำได้ทันที

สำหรับเครื่อง Haptics for Echocardiogram เป็นอุปกรณ์สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการตรวจผู้ป่วยโรคหัวใจแม้อยู่ห่างไกล โดยสื่อสารกับแพทย์ที่อยู่หน้างานให้วางอุปกรณ์ตามคำแนะนำ เพื่อหาสาเหตุของโรคหัวใจ ช่วยในการวางแผนในการรักษาของเจ้าของไข้ว่าควรส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่หรือไม่ วิธีนี้จะช่วยให้ไม่เสียเวลาเดินทางไป รพ. ใหญ่ในเขตเมือง

และ Hololens เป็นแว่นแสดงภาพ 3 มิติ ที่ผนวกความจริงกับความจริงเสมือนโปรแกรมทางการแพทย์ โดยที่ผู้สวมใส่ทั้งสองฝั่ง จะมองเห็นและได้ยิน รวมถึงเรียกดูข้อมูลจากแฟ้มผู้ป่วยได้ เหมือนได้นั่งตรวจคนไข้ห้องเดียวกัน ทำให้การปรึกษาระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับแพทย์ในชนบทที่อยู่ห่างไกลในภาวะฉุกเฉินสามารถทำได้ทันที

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ความห่างไกล และความขาดแคลน จึงทำให้การเข้าถึงของเทคโนโลยีไม่เท่าเทียมกันรวมไปถึงการเข้าถึงด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้คณะแพทย์ศาสตร์ ม. นเรศวร สร้างบริการทางการแพทย์ที่เรียกว่า Telemedicine หรือการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยนำการแพทย์มาผนวกกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้ประโยชน์ต่อการปรึกษาระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับบุคลากรทางการแพทย์ในชนบท ร่วมมือกันรักษาได้แบบทุกที่ ทุกเวลา ทั้งนี้ได้นำร่องสำหรับกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหัวใจระหว่างรพ.อุตรดิตถ์และกำลังจะนำไปใช้กับ รพ. สุโขทัย