ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะฯ พิษณุโลก เตรียมแผนจัดการจราจรและผันน้ำจากแม่น้ำวังทองและแม่น้ำชมพู ระบายน้ำสู่แม่น้ำน่าน

แบ่งปัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก สั่งการศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะโครงการชลประทานพิษณุโลก เตรียมความแผนจัดการจราจรและผันน้ำจากแม่น้ำวังทองและแม่น้ำชมพู ระบายน้ำสู่แม่น้ำน่าน รับมืออุทกภัยฝนตกชุก

นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มอบหมายให้ นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยโครงการชลประทานพิษณุโลก ประสาน สำนักชลประทานที่ 3 และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน 2564 โดยดำเนินการ ดังนี้ การบริหารจัดการแม่น้ำวังทอง และแม่น้ำชมพู โครงข่ายน้ำลุ่มน้ำวังทอง – คลองชมพู อ.วังทอง มีแผนการบริหารจัดการแม่น้ำวังทอง-แม่น้ำชมพู ควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินศักยภาพความจุแม่น้ำวังทองของแม่น้ำที่จะรับได้ เพื่อไม่ให้เกิดการล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ชุมชุนและพื้นที่เกษตร รวมทั้งระบายลงสู่แม่น้ำน่านเพื่อลดผลกระทบ โดยการควบคุมปริมาณน้ำแม่น้ำวังทอง ที่สถานีวัดน้ำ N.24A ไม่เกิน 316 ลบ.ม/วินาที และแม่น้ำชมพู ที่สถานีวัดน้ำ N.43A ไม่เกิน 204 ลบ.ม/วินาที ขณะนี้ โครงการชลประทานพิษณุโลก ประสานงานร่วมกับ สำนักงานชลประทานที่ 3 ในการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำวังทอง และแม่น้ำชมพู ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ดำเนินการพร่องระบายน้ำ ในแม่น้ำวังทอง ลงสู่แม่น้ำน่านให้มากที่สุด โดยระบายน้ำผ่านอาคารชลประทานทุกอาคาร ในปริมาณสูงสุด ทั้ง 2 ทาง คือผันระบายลงสู่ แม่น้ำน่าน ที่ ต.ทำฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร และ ผันระบายลงสู่ คลองทำเนียบ เพื่อไปลงแม่น้ำน่าน ที่ ต.สนามคลี อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก นอกจากนี้ ควบคุมและบริหารจัดการน้ำแม่น้ำน่าน และจากเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนนเรศวร ให้สอดคล้องกับการผันน้ำจากแม่น้ำยมลงแม่น้ำน่าน เพื่อช่วยแร่งการระบายน้ำแม่น้ำวังทองและแม่น้ำชมพู โดยการงดการระบายน้ำ ของเขื่อนสิริกิติ์ และ งดการระบายน้ำเขื่อนแควน้อย เพื่อเก็บกักน้ำ และ ลดการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน และ ชะลอหน่วงน้ำเหนือเขื่อนนเรศวร รวมทั้ง สำรวจจุดเสี่ยง ในพื้นที่คันคลองต่ำ และจุดเปราะบางที่เคยเกิดอุทกภัยประจำ เช่น แม่น้ำวังทอง บริเวณตลาด อ.วังทอง , คันแม่น้ำวังทอง ต.วังพิกุล ฯลฯ ส่วนแม่น้ำชมพู คันคลอง ใน เขต ต.เนินกุ่ม และ ต.วัดตายม ที่เคยเกิดการกัดเซาะ และ พังทลายน้ำไหลเข้าพื้นที่ ควรมีการสำรวจและตรวจสอบ แก้ไข เสริมความแข็งแรง และ ให้ เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง

ส่วนการบริหารจัดการลุ่มน้ำยม-น่าน มีแผนการบริหารจัดการแม่น้ำยม ตัดยอดน้ำก่อนเข้าเมืองสุโขทัย โดยการควบคุมปริมาณน้ำผ่านตัวเมืองสุโขทัย ที่สถานีวัดน้ำ Y.4 ไม่เกิน 500 ลบ.ม/วินาที และการดำเนินการ ดังนี้ จังหวัดพิษณุโลก ประสานงานร่วมกับ จ.สุโขทัย และ จ.อุตรดิตถ์ ในการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำยม ลำน้ำสาขาแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์, ใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานบริหารจัดการน้ำให้เต็มศักยภาพของแต่ละลำน้ำ , ผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจากแม่น้ำยม ไปลงแม่น้ำน่าน ผ่าน คลองผันน้ำ ยม-น่าน, แม่น้ำยมสายเก่า, คลองระบายน้ำ DR-15.8(60 cms) และ คลองระบายน้ำ DR-2.8 (300 cms) นอกจากนี้ ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ(โครงการบางระกำโมเดล) เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ( พื้นที่ 265,000 ไร่) สามารถตัดยอดน้ำได้สูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2564)
ปัจจุบันมีน้ำเข้าทุ่งแล้วกว่า 200 ล้าน ลบ.ม.

อีกทั้ง ควบคุมและบริหารจัดการน้ำแม่น้ำน่าน และเขื่อนสิริกิดิ์(งดการระบายน้ำ), เขื่อนแควน้อยฯ(งดการระบายน้ำ) และเขื่อนนเรศวร ระบายน้ำให้สอดคล้องกับการผันน้ำจาก แม่น้ำยมลงแม่น้ำน่าน เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำแม่น้ำยม และเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด เพื่อเป็นต้นทุนน้ำฤดูแล้ง ต่อไป