พิษณุโลก 51 คณาจารย์ ร้อง กกอ.-สื่อฯ ร่อนเอกสารลับหลุดว่อนโซเชียล จนทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณ เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน

แบ่งปัน

จากกรณีที่มีสื่อมวลชนบางสำนักนำข่าวการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของ 51 คณาจารย์มหาวิทยาลัยพิษณุโลก กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคอีสานมาระคนปนกัน โดยกล่าวหาว่า “มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง” มีการทุจริต แต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ ล่าสุด ทนายกระดูกเหล็ก นำคณาจารย์มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเตรียมฟ้องคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสื่อมวลชนบางสำนัก หลังทำเอกสารลับหลุดว่อนโซเชียลเป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยพิษณุโลกและคณาจารย์ เสื่อมเสียชื่อเสียง จนกระทั่งบางรายถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท

นายอนันต์ชัย ไชยเดชทนายความชื่อดัง นำคณาจารย์ผู้เสียหายตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงกรณีที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ กกอ. มีมติให้ถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ของคณาจารย์มหาวิทยาลัยพิษณุโลก จำนวน 51 ท่าน เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (14 ธ.ค. 64) ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยพิษณุโลก หลังจากมีสื่อมวลชนบางสำนัก ได้นำเสนอข่าวว่า กกอ. มีมติส่งเรื่องให้สภามหาวิทยาลัยพิษณุโลก ไปพิจารณาทบทวนการดำเนินการแต่งตั้ง 51 คณาจารย์ดำรงตำแหน่งทางวิชาการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หลังตรวจสอบพบว่า กระบวนการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นไปตามระเบียบหลายประการ ซึ่งเรื่องนี้ กกอ.ได้มีมติส่งเรื่องคืนให้สภามหาวิทยาลัยพิษณุโลก รับทราบตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่มหาวิทยาลัยพิษณุโลกได้มีหนังสือแจ้งมติสภามหาวิทยาลัยฯ ยืนยันกลับมาว่า การดำเนินการแต่งตั้งคณาจารย์มหาวิทยาลัยทั้ง 13 ราย ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ กกอ.กำหนดแล้ว แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) พบว่า กระบวนการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยพิษณุโลกทั้ง 51 ราย ไม่เป็นไปตามระเบียบ กกอ. ทำให้มหาวิทยาลัยพิษณุโลก และคณาจารย์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และเกียรติคุณเป็นอย่างมาก โดยทนายอนันต์ชัย กล่าวว่า ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก ขอเรียนชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยพิษณุโลกเป็นสถาบันการศึกษาเอกชน จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มีภาระหน้าที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญา ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงถือว่ามหาวิทยาลัยพิษณุโลก เป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีอำนาจโดยชอบในการแต่งตั้ง และถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มาตรา 43 (3)

โดยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อประมาณปี2558 มหาวิทยาลัยพิษณุโลกได้แต่งตั้งคณาจารย์ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการจำนวน 13 ท่าน และได้แจ้งให้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันแต่งตั้งแล้ว และในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยพิษณุโลกได้แต่งตั้งคณาจารย์ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการอีกจำนวน 38 ท่าน ซึ่งได้นำเรื่องกลับมาทบทวนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และอยู่ในระหว่างแจ้งให้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ทราบตามกฎหมาย จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยพิษณุโลกว่า สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อแลกกับตำแหน่งทางวิชาการ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงฯ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยพิษณุโลก ซึ่งไม่พบการทุจริตตามข้อร้องเรียน แต่พบว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำมหาวิทยาลัยพิษณุโลกไม่เป็นไปตามความในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 กล่าวคือประธานกรรมการมิได้แต่งตั้งจากกรรมการสภาสถาบัน จึงมีคำสั่งให้ส่งเรื่องคืนและขอให้มหาวิทยาลัยพิษณุโลกพิจารณาทบทวนการดำเนินการแต่งตั้งคณาจารย์ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดรวมจำนวน 51 ท่าน และทบทวนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยพิษณุโลกได้มีมติยืนยันว่าการอนุมัติกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์มหาวิทยาลัยพิษณุโลกทั้ง 51 ท่าน ชอบแล้ว และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทางสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยพิษณุโลกแจ้งว่า กกอ. มีมติให้มหาวิทยาลัยพิษณุโลกพิจารณาถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ที่ กกอ. รับทราบการแต่งตั้งไปแล้วจำนวน 13 ท่าน อยู่ระหว่างเสนอ กกอ. รับทราบการแต่งตั้งจำนวน 37 ท่าน และอยู่ระหว่างนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจำนวน 1 ท่าน รวมทั้งสิ้น 51 ท่าน จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นได้มีพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มาตรา84 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด…ให้คณะกรรมการเตือนเป็นหนังสือให้ปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆตามที่แจ้งไปภายในเวลาที่กำหนด” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยพิษณุโลกมิได้เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามอำนาจหน้าที่โดยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนี้อยู่ที่ว่ามติของ กกอ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม และ 21 กันยายน 2564 ที่มีมติให้มหาวิทยาลัยพิษณุโลกพิจารณาถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์รวมจำนวน 51 ท่านนั้น เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่” ดังนั้น แม้ประธานกรรมการจะมิได้แต่งตั้งมาจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยพิษณุโลกอันเป็นการขาดคุณสมบัติไปประการหนึ่งก็ตาม แต่ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงมติของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำมหาวิทยาลัยพิษณุโลกที่ได้อนุมัติการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์มหาวิทยาลัยพิษณุโลกทั้ง 51 ท่าน โดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กกอ. จะยกเหตุว่าประธานกรรมการมิได้แต่งตั้งจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยพิษณุโลกขึ้นอ้างเพื่อถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ทั้ง 51 ท่าน ไม่ได้ อีกทั้งการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการตามระเบียบคณะกรรมการการอุดมศึกษา ว่าด้วยมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ(ฉบับที่3) พ.ศ.2550 จะกระทำได้เพียง 2 กรณีเท่านั้น คือ 1.กรณีที่ตรวจพบว่าผู้ขอกำหนดตำแหน่งระบุการมีส่วนร่วมในผลงานไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือมีพฤติการณ์ส่อว่ามีการลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่น หรือนำผลงานทางวิชาการของผู้อื่นไปใช้ในการนำเสนอของตำแหน่งทางวิชาการโดยอ้างว่าเป็นผลงานทางวิชาการของตนเองหรือ 2.กรณีที่รับการเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการไปแล้ว หากภายหลังตรวจสอบพบหรือทราบว่าผลงานทางวิชาการที่ใช้ในการเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการในครั้งนั้น เป็นการลอกเลียนผลงานของผู้อื่นหรือนำผลงานทางวิชาการของผู้อื่นไปใช้ในการนำเสนอของตำแหน่งทางวิชาการโดยอ้างว่าเป็นผลงานทางวิชาการของตนเองก็ให้สภาสถาบันมีมติถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ทนายอนันต์ชัย ขอย้ำว่า กรณีของคณาจารย์มหาวิทยาลัยพิษณุโลกทั้ง 51 ท่าน ไม่เข้าเหตุที่จะเพิกถอนตำแหน่งทางวิชาการแต่ประการใดทั้งสิ้น ดังนั้น การที่มีบุคคลและสำนักข่าวบางแห่งร่วมกับพนักงานของมหาวิทยาลัยพิษณุโลกบางคน ที่มีหน้าที่รักษาดูแลเอกสารชั้นความลับ กระทำด้วยประการใดๆอันมิชอบด้วยหน้าที่ ให้ผู้อื่นล่วงรู้เอกสารชั้นความลับ และนำเอกสารชั้นความลับนั้นออกเผยแพร่ทางสื่อคอมพิวเตอร์ ด้วยประการที่น่าจะทำให้มหาวิทยาลัยพิษณุโลกและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยพิษณุโลกเสื่อมเสียเกียรติคุณ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง กระผมในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลกจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกคนจนถึงที่สุดทั้งทางแพ่งและอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา164 ,188 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14(1)