ผู้ว่าฯ พิษณุโลกเซ็นสั่ง “นายก อบต.บ้านกร่าง” พ้นเก้าอี้ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลปมแบ่งซื้อแบ่งจ้างกำจัดขยะส่อเอื้อพวกพ้อง

แบ่งปัน

วันนี้ (29 เม.ย. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งจังหวัดพิษณุโลก ที่ 3327/2565 ลงวันที่ 27 เม.ย. 65 ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก พ้นจากตำแหน่ง

หลังจากสำนักงาน ป.ป.ช.แจ้งว่าได้รับเรื่องกล่าวหา นายก อบต.บ้านกร่าง กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทำสัญญาจ้างเหมาบริการกำจัดขยะมูลฝอยในปีงบประมาณ 2557 ในลักษณะแบ่งซื้อแบ่งจ้าง โดยลดวงเงินให้ต่ำลงเพื่อที่จะสามารถจ้างพวกพ้องของตนโดยวิธีตกลงราคาได้ อีกทั้งผู้รับจ้างไม่ได้ประกอบอาชีพรับจ้างกำจัดขยะโดยตรงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการอันมีมูลความผิดอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ตกไป แต่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดฐานกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92

ที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งสำนวนการไต่สวนให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจกับนายก อบต.บ้านกร่าง ผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 98 วรรคสี่

จังหวัดพิษณุโลกได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้นายอำเภอเมืองพิษณุโลกพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และได้รับรายงานจากนายอำเภอเมืองพิษณุโลกว่าได้แต่งตั้งคณะสอบสวน และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหานายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่างดังกล่าว ไม่มีมูลควรเป็นที่ยุติ และเนื่องจากการรับจ้างเหมาฝังกลบขยะไม่มีระเบียบกฎหมายบังคับให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์เป็นผู้ประกอบกิจการแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องมิได้กระทำผิด และฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เรื่องควรเป็นที่ยุติ

และจังหวัดพิจารณาเห็นด้วยกับความเห็นของอำเภอเมืองพิษณุโลกจึงให้ยุติเรื่อง และให้นายอำเภอเมืองพิษณุโลกกำชับไปยังนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่างและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน โดยถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และได้รายงานให้สำนักงาน ป.ป.ช.ทราบ

ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 มีหนังสือลับ ที่ ปช 003 (สปภ.6)/1473 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติเป็นหลักการว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ถือเป็นกฎหมายที่เป็นบทบัญญัติยกเว้นการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการประเภทต่างๆ

ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีเจตนารมณ์ในการบังคับใช้รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งมีกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสอบสวน เพื่อให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่ง โดยให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหานั้นพิจารณาโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก

และให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 98 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับปัจจุบันยังคงหลักการและสาระสำคัญเช่นเดิม

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายก อบต. ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนนายก อบต.จึงต้องดำเนินการตามมาตรา 98 วรรคหนึ่ง โดยไม่อาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นฯ ได้ และต้องพิจารณาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายใน 30 วัน เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่นเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามมาตรา 98 วรรคสาม ประกอบบทนิยามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

X

และหากผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามมาตรา 98 โดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ถือว่าผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และขอให้พิจารณาสั่งลงโทษนายก อบต.บ้านกร่าง ภายใน 30 วัน พร้อมส่งสำเนาคำสั่งลงโทษดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบต่อไป

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกพิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนเบื้องต้น และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คดีหมายเลขดำที่ 96-1-447/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 241-1-40/2563 และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 ลับ ที่ ปช 003 (สปภ.6/1473 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 791/2564 และความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ในการประชุม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 แล้วเห็นว่าความผิดฐานกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 9 มีลักษณะเช่นเดียวกับฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กล่าวคือ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิซอบอย่างหนึ่ง

ดังนั้น การชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในความผิดตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาตราดังกล่าว จึงเป็นการชี้มูลในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นความผิดฐานหลัก ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนได้รับรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว จึงมีหน้าที่พิจารณาดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีมติชี้มูลความผิดในกรณีดังกล่าวโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก จึงสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง

อนึ่ง การโต้แย้งคำสั่งนี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองพิษณุโลก หรือส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองพิษณุโลก ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือได้รับทราบคำสั่งตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ (27 เม.ย. 65) เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อบต.บ้านกร่างกำลังถูกกลุ่มอนุรักษ์-ชาวบ้านในพื้นที่ เคลื่อนไหวคัดค้านการฟื้นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาด 9.9 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท โดยมองว่ามีการทำประชาพิจารณ์แบบมีเงื่อนงำ

ที่มา : mgronline