เปิดขั้นตอนการทำ “ฝนหลวง” เพื่อประชาชน

แบ่งปัน


โครงการฝนหลวง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในการเกษตร

เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกร เมื่อปี พ.ศ. 2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง”(Artificial rain) ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป


ขั้นตอนปฏิบัติการทำฝนหลวง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริขั้นตอนการทำฝนโดยทรงสังเกตวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้นว่า บางครั้งถึงแม้จะมีเมฆมาก แต่ไม่สามารถรวมตัวกันจนเกิดฝนได้พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าโดยเน้นความจำเป็นในด้านพัฒนาการและปรับปรุงกรรมวิธีในการทำฝนในแนวทางของการออกแบบปฏิบัติการ ทรงใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนการใช้ประโยชน์ของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษารูปแบบเมฆ และการปฏิบัติการทำฝนให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ พระองค์ทรงวิเคราะห์การทำฝนหลวงว่ามี 3 ขั้นตอน คือ


ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวนให้เกิดเมฆ เป็นการกระตุ้นให้ความชื้นหรือไอน้ำรวมตัวเป็นกลุ่มแกน เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝน ในระยะต่อมาวิธีการคือ โปรยสารเคมีที่ก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศได้แก่ “เกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์)” ที่ความสูงประมาณ 7,000 ฟุต ความชื้นหรือไอน้ำ จะดูดซับเข้าไปเกาะรอบแกนเกลือ แล้วรวมตัวกันเกิดเป็นเมฆที่จะพัฒนาเจริญขึ้นเป็นเมฆก้อนใหญ่ที่อาจสูงถึง 10,000 ฟุต


ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงเมฆให้อ้วน เป็นการเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำให้กลุ่มเมฆฝน มีความหนาแน่นมากขึ้น ใช้ “สารเคมีผงแคลเซียมคลอไรด์” โปรยเข้าไปที่กลุ่มเมฆ ที่มีความสูงประมาณ 8,000 ฟุต หรือสูงกว่าฐานเมฆประมาณ 1,000 ฟุต ขั้นตอนนี้สามารถเร่งกิจกรรมการกลั่นตัวของไอน้ำได้เร็วกว่าที่จะปล่อยให้เจริญขึ้นเองตามธรรมชาติ เมฆใหญ่อาจจะก่อยอดขึ้นถึงระดับ 15,000 ฟุต ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นส่วนของเมฆอุ่น แต่ในบางครั้งยอดเมฆอาจจะสูงถึง 20,000 ฟุต ซึ่งถือว่าเป็นส่วนของเมฆเย็น (เริ่มตั้งแต่ประมาณ 18,000 ฟุต)


ขั้นตอนที่ 3 โจมตี เป็นการเร่งหรือบังคับให้เกิดฝน ขณะที่เมฆเจริญเติบโตขึ้นจนเริ่มแก่ตัวจัดจนฐานเมฆลดระดับต่ำลงประมาณ 1,000 ฟุตและเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายจึงปฏิบัติการ พระราชทานขั้นตอนการโจมตีไว้ ดังนี้
1) แบบ Sanwich เป็นเทคนิคปฏิบัติการที่ความสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต (เมฆอุ่น) ใช้ “ผงโซเดียมคลอไรด์” โปรยทับยอดเมฆด้านเหนือลมพร้อม “ผงยูเรีย” โปรยที่ระดับฐานเมฆด้านใต้ลมในเวลาเดียวกัน โดยให้แนวโปรยทั้ง 2 ทำมุมเยื้องกัน 45 องศา ด้วยปฏิบัติการนี้เมฆจะทวีความหนาแน่นของเม็ดน้ำขนาดใหญ่ขึ้นและปริมาณมากขึ้นจนตกลงมารวมตัวกันที่ฐานเมฆทำให้ใกล้จะเกิดฝนวิธีการนี้จะต้องเสริมการโจมตีด้วยการโปรยสารเคมีสูตรเย็นจัดคือ “น้ำแข็งแห้ง (Dry Ice)” ที่ใต้ฐานเมฆ 1,000 ฟุต เพื่อเร่งให้กลุ่มฝนตกลงเร็วขึ้น
2) แบบเมฆเย็น เป็นกรณีที่ยอดเมฆสูงมาจนถึงระดับเมฆเย็นหรือประมาณ 20,000 ฟุต ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วิธีการคือ ใช้ “สารเคมีซิลเวอร์ ไอโอไดด์” ยิงจากเครื่องบินที่ระดับความสูงประมาณ 21,500 ฟุต ทำให้ไอน้ำระเหยจากเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวดมาเกาะตัวรอบแกนของสารเคมีที่ยิง กลายเป็นผลึกน้ำแข็งจนกระทั่งตกลงมา และละลายเป็นเม็ดน้ำเมื่อเข้าสู่ระดับเมฆอุ่น ทำให้ ไอน้ำและเม็ดน้ำในเมฆอุ่นเข้ามาเกาะรวมตัวเป็นเม็ดใหญ่ขึ้นทะลุฐานเมฆเป็นฝนตกลงสู่พื้นดิน
3) แบบ Super Sandwich เป็นเทคนิคใหม่ที่ทรงคิดค้นขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกร และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งอย่างกว้างขวางสืบเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จากปรากฏการณ์ “เอล นิโน” ปฏิบัติการนี้ใช้วิธีการแบบ Sandwich และแบบเมฆเย็นควบคู่กันในเวลาเดียวกัน จะทำให้ฝนตกหนักและต่อเนื่องยาวนาน ให้ปริมาณน้ำฝนสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นประสานประสิทธิภาพของการโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นในเวลาเดียวกัน


เทคนิคการโจมตีแบบ Super Sandwich นี้ เป็นเทคนิคที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นขึ้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่องและนำมาปฏิบัติการในประเทศไทยเป็นประเทศแรก ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่และมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรเลขที่ 13898 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 จากกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ในปี 2544 คณะกรรมการจัดงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางเทคโนโลยี Brussels Eureka 2001 ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเหรียญทอง ประกาศนียบัตรสดุดีพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน ในฐานะที่เทคโนโลยีฝนหลวงเป็นโครงการดีเด่นด้านสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วย

อ้างอิงจาก : http://www.royalrain.go.th
(กรมฝนหลวงและการบินเกษตร : ตำราฝนหลวง)


กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งการเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ปัจจุบันมีการใช้อากาศยานปฏิบัติการฝนหลวง ประจำ 11 หน่วยทั่วประเทศ ดังนี้
พื้นที่ภาคเหนือ
1. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดเชียงใหม่
2. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดตาก
3. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดพิษณุโลก
พื้นที่ภาคกลาง
4. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดลพบุรี
5. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดกาญจนบุรี
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
6. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดขอนแก่น
7. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดนครราชสีมา
8. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดสุรินทร์
9. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่ภาคตะวันออก
10. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดสระแก้ว
พื้นที่ภาคใต้
11. หน่วยปฏิบัติการ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำหรับอากาศยานที่ออกปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมทุกภูมิภาคทั้งประเทศ มีจำนวน 23 ลำ ประกอบด้วย อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 21 ลำ และอากาศยานจากกองทัพอากาศ จำนวน 2 ลำ