สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก แถลงพบผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 รายที่ 5

แบ่งปัน

สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก แถลงพบผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 รายที่ 5 เป็นบุคลาการสังกัดมหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งมีประวัติไปเฝ้ามารดาที่ กทม. และร่วมกันยืนไว้อาลัยให้กับ อสม.ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เตรียมมอบเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของ อสม.ระดับประเทศให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกด้วย ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก นายแพทย์ รัฐภูมิ ชามพูนท รักษาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย รศ.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นายวิรัช ประวันเตา รักษาการ ผู้อำนวยการ.สคร.เขต 2 ได้ร่วมกันแถลงข่าวยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 5 ในจังหวัดพิษณุโลก ผู้ป่วยชายไทยอายุ 59 ปีเป็นบุคลากรสังกัดมหาวิทยาลัยชื่อดัง มีประวัติไปเฝ้ามารดาซึ่งเข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคหลอดเลือดสมองและมีภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร 2 ช่วงเวลาคือระหว่างวันที่ 23 ถึง 25 มีนาคม 2563 และ 26 ถึง 31 มีนาคม 2563 โดยเฝ้าอาการทุกวันและเดินทางโดยรถ ส่วนตัวตลอดเวลาขณะที่อยู่ในกรุงเทพฯและตลอดการเดินทางไปกลับจากกรุงเทพฯถึงจังหวัดพิษณุโลก

จากการซักถามผู้ป่วยพบว่าเมื่อมาถึงจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 1 เมษายน 2563 ได้เข้าไปรับเอกสารในที่ทำงานมหาวิทยาลัย เพื่อนำกลับไปทำงานที่บ้านหลังจากนั้นอยู่บ้านตลอดเวลา ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ปวดเมื่อยตามลำตัวและไอ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 จนกระทั่งทราบข่าวจากญาติว่าผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ของมารดาเป็นบวกโดยมารดาไม่มีประวัติเดินทางไปสถานที่เสี่ยงแต่ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมีอาการหอบเหนื่อยและผลฟิล์มจากการเอกซเรย์พบปอดติดเชื้อ จึงมีการส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของมารดาและเมื่อทราบว่าผลการตรวจเชื้อของมารดาจึงได้แจ้งให้ผู้ป่วยทราบทำให้ผู้ป่วยเข้ามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรในวันที่ 5 เมษายน 2563 รศ.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ชี้แจงว่า สำหรับผู้ป่วยรายนี้ได้รับการตรวจเชื้อ โควิด-19 จากห้องปฏิบัติการมีผลเป็นบวกคือพบเชื้อโควิด-19 และขณะนี้ทีมแพทย์ได้ให้การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัสและยาต้านเชื้อมาลาเรียตามแนวทางมาตรฐานอาการของผู้ป่วยขณะนี้ยังไม่รุนแรงสามารถหายใจได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องให้ออกซิเจน ในส่วนของภรรยาผู้ป่วยและบุคลากรที่สัมผัสกับผู้ป่วยอีก 2 รายทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ทราบรายชื่อทั้งหมดแล้วและอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนโลกซึ่งทั้งหมดอยู่ในขายที่ต้องเฝ้าระวังและได้ดำเนินการเฝ้าระวังตามมาตรฐาน และบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในข้อ 2 โดยตรงจึงไม่ต้องกังวลอย่างไรก็ตามขอให้ท่านปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันส่วนบุคคลเช่นสวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อยๆและปฏิบัติตัวตามแนวทาง social distancing และอยู่แต่ในบ้านหรือที่พักไม่ออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็น และจากกรณีพบผู้ป่วยรายที่ 5 ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากที่อื่นเข้ามาในพิษณุโลก ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัย จึงได้ออกมาตรการเข้มข้น ห้าม บุคลากร มหาวิทยาลัย ทุกคน เดินทางออกนอก จ.พิษณุโลก โดยเด็ดขาด เพราะเกรงจะเหมือนกับกรณีผู้ป่วยรายที่ 5 นี้ นอกจากนี้ สำหรับ รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร กรณีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหากไม่ใช่กรณีเร่งด่วน จะใช้วิธีการส่งยาไปให้ โดยแพทย์เจ้าของไข้จะทำการโทรคุยกับผู้ป่วยว่าอาการเป็นอย่างไร ยินดีจะรับยาทางไปรษณีย์หรือไม่ หากคนไข้ยินดีทางแพทย์ก็จะจัดส่งยาให้ทางไปรษณีย์ส่งให้ถึงบ้านพัก เพื่อเป็นการลดการแออัดภายในโรงพยาบาลอีกด้วย สำหรับสถานการณ์จังหวัดพิษณุโลก พบผู้ป่วยยืนยัน 5 รายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 5 ราย สำหรับผู้ป่วยรายที่ 1 และ 3 ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 ไม่พบเชื้อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของทีมแพทย์จะจำหน่ายอีกครั้ง สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง(PUI) สะสม 170 ราย เป็นรายใหม่ 2 ราย รอผล 2 ราย

นอกจากนี้นายแพทย์ รัฐภูมิ ชามพูนท รักษาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ยังได้ร่วมกันยืนไว้อาลัยให้กับ นางทองใส เศรษฐสูงเนิน อาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้านเนินมะเกลือ ต.ท่าหมื่นราม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองเตาอิฐ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่เสียชีวิตหลังจากปฏิบัติงานด่านชุมชนคัดกรองเพื่อป้องกันโควิด -19 เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา โดยทางสำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดพิษณุโลกจะติดต่อขอรับเงินจากกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ของ อสม.ระดับประเทศให้อีกด้วย นายแพทย์ รัฐภูมิ ชามพูนท รักษาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมประชุมกับประธานชมรม อสม.ระดับอำเภอทุกอำเภอ เน้นย้ำให้ดูแล อสม.สูงอายุซึ่งมีจำนวนมาให้เป็นไปตามคำแนะนำของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คือ อสม.ทุกคน หากมีอาการป่วยอยู่แล้วไม่ต้องออกปฏิบัติงานที่ด่านชุมชนเด็ดขาด และ อสม.ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ให้ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค