จากสถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน มีความรุนแรงและทำลายพื้นที่ป่า โดยเฉพาะ 9 จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนเสียหายมากกว่า 55,266 ไร่ โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่เสียหายมากที่สุด 17,745 ไร่ สำหรับจังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่เสียหายจากการเกิดไฟไหม้ทั้งหมด 1,571.72 ไร่ แต่ในภาพรวมมีจุด Hotspot ลดลงจากปีก่อนคือ ปี 2562 จำนวน 5,343 จุด และ ปี 2563 มี 4,193 จุด โดยเกิดขึ้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตามพรบ.ป่าไม้ 2484 ที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก กรมป่าไม้ รับผิดชอบลดลงจำนวน 1,346 จุด และ 1,242 จุด ตามลำดับ
ดังนั้นนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และท่านปลัดทส.(นายจตุพร บุรุษพัฒน์)จึงมอบหมายให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าที่ได้รับความเสียหายจากการเกิดไฟไหม้อย่างเร่งด่วน
กรมป่าไม้โดยท่านอธิบดีกรมป่าไม้(นายอรรถพล เจริญชันษา) จึงได้มอบหมายและสั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก(นายอัครชัย อาสุ) พร้อมเจ้าหน้าที่ประสานกับเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าปี 2563 และเครือข่ายป่าชุมชน พื้นที่จังหวัดพิษณุโลกจำนวน 20 หมู่บ้านเครือข่ายและจังหวัดเพชรบูรณ์อีกจำนวน 20 หมู่บ้านเครือข่าย รวมทั้งหมด 40 หมู่บ้านเครือข่าย จัดงาน “โครงการรวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียว จังหวัดพิษณุโลก” และปลูกป่าแบบประชาอาสาฟื้นฟูพื้นที่ถูกไฟไหม้ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและชุมชนร่วมสนับสนุน
ในวันนี้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่หมู่บ้านปากพาน ท้องที่บ้านปากพาน หมู่ที่ 6 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ในป่าสงวนแห่งชาติป่าสองฝั่งลำน้ำแควน้อย ดำเนินการจำนวน 21.12 ไร่ เนื่องจากเหตุผลที่เป็นหมู่บ้านเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า 1 ใน 20 หมู่บ้านเครือข่าย และเป็นหมู่บ้านที่มีแหล่งต้นน้ำในป่าชุมชนต่อท่อประปาแบบระบบชลประทานหล่อเลี้ยงหมู่บ้านจำนวน 169 หลังคาเรือนและราษฎรจำนวน 650 คนได้ตลอดทั้งปี ซึ่งวันนี้จะปลูกในพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายฯ ในจังหวัดพิษณุโลกรวม 20 เครือข่าย รวมพื้นที่ฟื้นฟูทั้งหมด 419.01 ไร่ โดยใช้กล้าไม้จากสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดพิษณุโลกจำนวน 11,530 กล้า ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูสภาพป่าที่เสียหายอันเนื่องมาจากการเกิดไฟไหม้ให้อุดมสมบูรณ์กลับมาอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป