คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ “ตรวจสอบโครงการโรงบำบัดน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก”

แบ่งปัน

วันนี้ 21 กันยายน 63 เวลา 10.00 น. นายธีรัจชัย พันธุมาศ กรรมาธิการ พร้อมคณะกรรมมาธิการ เดินทางไปศึกษาดูงานเรื่อง “ตรวจสอบโครงการโรงบำบัดน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก (หนองอีเฒ่า)” โดยมี นายเจษฎา ลิ้มศรีตระกูล นายอำเภอเมืองพิษณุโลก ,นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ,นายนรินทร์ กวางทอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิษณุโลก และ นายปติพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้คณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ การทำงานระบบคัดแยกขยะของ อาคารสถานีสูบน้ำบริเวณ คลองโคกช้าง อำเภอเมือง และโรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลนครพิษณุโลก หมู่ที่ 6 ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่จะลงพื้นที่ตรวจสอท่อระบายน้ำเสีย เขตเทศบาลนครพิษณุโลก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ต่อไป

สำหรับบ่อบำบัดน้ำเสียหนองอีเฒ่า ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ได้รับการจัดงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ยุคที่นายยิ่งพันธุ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรี ดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี 2541 โดยแบ่งงานหรือแบ่งงบประมาณออกเป็น 2 ส่วน ใช้รางรถไฟที่วิ่งผ่าเมืองเป็นตัวแบ่ง

ฝั่งตะวันตกของรางรถไฟจนถึงริมแม่น้ำน่าน เทศบาลนครพิษณุโลกเป็นผู้ดูแล PUMP STATION (PS) จำนวน 3 จุด เริ่มปักหมุด PS จากวัดใหญ่ ลงไปทิศใต้ของตัวเมือง คือ PS1-3 โดยรวมท่อทั้ง 3 จุด เพื่อส่งต่อไปยังท่อ (PS) จุดที่ 4 พร้อมต่อเนื่องไปยัง PS5 และ PS6 พร้อมเชื่อมไปถึงบ่อบำบัดน้ำเสียหนองอีเฒ่า ต.วังพิกุล อ.วังทอง

แต่ปรากฏว่า PUMP STATION (PS) 1-3 กลับไม่ได้ใช้งานปั๊มน้ำสักครั้ง อ้างว่าจุด PS 4 และบ่อบำบัดหนองอีเฒ่าไม่แล้วเสร็จ ต่อมาได้มีงบซ่อมแซมประมาณ 50 ล้านบาท และปี 58-60 กรมโยธาธิการยังได้รับงบประมาณ 81 ล้านบาทเพื่อว่าจ้างเอกชนมาซ่อมแซมในจุดที่รับผิดชอบ ล่าสุดได้ส่งมอบงานให้เทศบาลนครพิษณุโลกไปแล้ว แต่ ณ วันนี้ก็ยังใช้ไม่ได้อีก

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ปัจจุบันน้ำเสียที่ไหลตามท่อน้ำทิ้งในเขตพาณิชยกรรมตัวเมืองพิษณุโลกจะไหลลงสู่ 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ 1. แม่น้ำน่าน 2. คลองโคกช้าง 3. ริมทางรถไฟ และน้ำเสียผสมกับน้ำฝนในคลองโคกช้างและริมทางรถไฟก็จะไหลไปรวมเป็นแม่น้ำวังทองไหลสู่ตอนล่างต่อไป ขณะที่ตลอดริมแม่น้ำน่านพบท่อน้ำเสียจากฝั่งทิศตะวันออกหรือฝั่งโรงแรม โรงพยาบาลตัวเมืองหลักจำนวน 16 ท่อ และทิศตะวันตก ซึ่งเป็นบ้านเรือน-ศาลากลางอีก 7 ท่อ