จากปูนา 2 คู่ในกาละมัง สู่เครือข่ายลูกฟาร์มกว่า 10 ราย สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และสร้างโอกาสทำเงินให้กับคนอื่นๆ
เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ บ้านเลขที่ 31/1 หมู่ 5 ตำบลท่าทอง อำเภอเมือง กลายเป็นจุดเรียนรู้และส่งเสริมการเลี้ยงปูนาน้ำใส ให้แก่ผู้สนใจได้เข้ามาพูดคุยสอบถามและหาความรู้ได้จาก นิตยาฟาร์มปูนา โดยมีนางสาวนิตยา กันยาประสิทธิ์ และ นายวัชระ เดือนขึ้น สองสามีภรรยา พนักงานข้าราชการ เป็นผู้ให้ความรู้ ตั้งแต่การเริ่มต้นเลี้ยงปูนา ไปจนถึง การทำคลอดปูนา ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวัง เพื่อรักษาอัตราการตายของลูกปูนาที่ออกจากท้องแม่ปู ไม่ให้เกินครึ่งหรือร้อยละ 50 ซึ่งที่นี่จะแนะนำให้ผู้สนใจ เลี้ยงปูนาให้ได้วัยเจริญพันธุ์เสียก่อน จึงจะนำมาลงในบ่อผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้ลูกปูนา 3-4 รุ่นต่อ1แม่พันธุ์ เพื่อให้ได้ลูกปูนา แต่ละรุ่นประมาณ 400 ตัว เป็นอย่างน้อย
ซึ่งในช่วงเวลานี้ ยังคงมีผู้สนใจเทคนิคการเลี้ยงปูนาน้ำใส เพื่อให้ได้ปูนาปลอดสารเคมี แตกต่างจากปูนาตามธรรมชาติที่มีความเสี่ยง อาจพบสารตกค้าง ซึ่งปัจจุบันยังคงมีความต้องการบริโภคปูนาในประเทศอีกเป็นจำนวนมาก แต่กำลังการผลิตภายในประเทศมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และอีก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้การเลี้ยงปูนาน้ำใส กำลังเป็นอาชีพที่น่าสนใจอยู่ในขณะนี้ ถึงแม้ว่าการจำหน่าย พ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะขายในราคาเพียงคู่ 100 บาท ก็ตาม แต่การเลี้ยงปูนาน้ำใส จะสามารถต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้อีกหลากหลายและสามารถขายได้ทั่วประเทศ
นางสาวนิตยา กันยาประสิทธิ์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นคือตนเองและสามีทำงานประจำ อยากมีอาชีพเสริม จึงขอข้อมูลจากในยูทูป ศึกษาจากผู้ประสบความสำเร็จและมีอนาคต จึงพบว่าการเลี้ยงปูนาเป็นอาชีพที่น่าสนใจเพราะ ปูนาหายไปจากครัวไทย ซึ่งในอดีตเคยมีมาตลอด แต่ปัจจุบันกลายเป็นของหายากและเริ่มไม่ปลอดภัยหากนำปูธรรมชาติมารับประทาน อาจมีปรสิตหรือสารเคมีตกค้าง จากพฤติกรรมการกินอาหารของปูตามธรรมชาติ จึงไปเรียนรู้การเลี้ยงปูนามาจากจังหวัดกำแพงเพชร และนำเอา ปูสายพันธุ์กำแพงเพชรและสายพันธุ์พระเทพ มาเลี้ยง
ตอนแรกที่เริ่มเลี้ยงปูนา 2 คู่ ในกาละมังก่อน ก็รอดมาได้ แต่พอเริ่มที่จะซื้อพันธุ์ปูมาเพิ่มอีก อีก 10 คู่ เลี้ยงในบ่อวง 2 วง ก็เริ่มที่จะพบว่ามีปูนาตาย ก็เริ่มท้อบ้างแต่ตนเองก็ตั้งใจที่จะเลี้ยงปูนาเป็นอาชีพเสริม จึงได้พยายามศึกษาสอบถามผู้ชำนาญ จนสามารถประคับประคองและมีประสบการณ์สามารถเลี้ยงปูนาและ ส่งเสริมให้ผู้สนใจเลี้ยงปูนาน้ำใสเหมือนตนเอง เป็นเครือข่ายลูกฟาร์มแล้วประมาณ 10 ราย ทำให้มีกำลังการผลิตปูนาน้ำใสเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีหน่วยงานภาคราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ประสานให้ตนเองและสามี ไปช่วยเป็นวิทยากรให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆทั้งในและต่างจังหวัด
และนอกเหนือจาการจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้ว นางสาวนิตยา และเครือข่ายลูกฟาร์ม ยังได้ร่วมกัน นำเอาปูนามารวมกันเพื่อ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายอาทิเช่น ปูนาสามรส น้ำปู ปลอดสารเคมีหรือสารพาราควอต น้ำพริกปูนา กระปิปูนา น้ำทาราดซอสพริกไทยดำ น้ำปลาร้าปูนา เป็นต้น