ตะกร้อทีมผสม หรือ ตะกร้อมิกซ์ อาจจะไม่คุ้นหูสำหรับแฟนกีฬาตะกร้อ เนื่องจากว่าเป็นอีเวนต์ใหม่เอี่ยมอ่องอรทัย ที่พึ่งจะคิดค้นขึ้นมานั่นเอง เรียกว่าใหม่ซิงๆ ยังไม่เคยเล่นให้เห็นที่ไหนมาก่อน
แฟนกีฬาคงงุงงงสงสัยว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก็จะท้าวความให้ทราบกันดังนี้
สหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติมีแนวคิดมานานแล้วอยากจะเพิ่มอีเวนต์ใหม่เป็นเกมที่สนุกสนานโดนใจแฟนๆ และต้องได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอนาคต
ที่ผ่านมาก็มีทั้งการแข่งขันตะกร้อประเภทคู่, ทีม 4 คน, ลอดห่วงสากล ซึ่งนานาชาติก็ค่อนข้างให้ความสนใจโดยเฉพาะ คู่ กับ ทีม 4 คน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเกมที่สูสูคู่คี่ โอกาสแพ้-ชนะ และโอกาสลุ้นเหรียญรางวัลมีพอๆกัน ซึ่งทั้งไทย กับ มาเลเซีย สองขาใหญ่มีสิทธิโดนน็อกได้ตลอด
มาถึงเกมใหม่อย่าง “ตะกร้อมิกซ์” หรือคงต้องเรียกว่า “ทีมผสม” เกมการแข่งขันตะกร้อที่จะประกอบด้วยนักกีฬาชายและหญิง ให้เห็นภาพชัดๆ ก็นึกถึงเกมเทนนิสคู่ผสม, ปิงปองคู่ผสม และ แบดมินตันคู่ผสม ที่ทำการแข่งขันกันในเกมระดับนานาชาติ
สำหรับตะกร้อมิกซ์ ยังจะแบ่งออกเป็น คู่ผสม, ทีม3คน , ทีม4 คน และลอดห่วงสากล
ผู้เล่นนั้น คู่ผสม จะประกอบด้วย ชาย 1 คน หญิง 1 คน ส่วนทีม 3 คน จะประกอบด้วยนักกีฬาชาย 1 คน และหญิง 1 คน และ ทีม 4 คน ประกอบด้วย ชาย 2 คน หญิง 2 คน ส่วนตะกร้อลอดห่วงสากลมิกซ์นั้นจะเป็นนักกีฬาชาย 3 คน หญิง 3 คน ในเบื้องต้นจะใช้กติกาการแข่งขันเดียวกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
การเพิ่มอีเว้นต์ “ตะกร้อมิกซ์” มีเป้าหมายเพื่อบรรจุชิงชัยเหรียญทองอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมีนาคมปี 2565 เดิมทีแฟนตะกร้อจะได้เห็นในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่เพราะพิษโควิด-19 เกมอินดอร์และมาเชียลอาร์ตจึงต้องเลื่อนออกไปก่อน
ทั้งนี้ก่อนจะบรรจุแข่งขันในเกมระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการนั้นก็จะต้องจัดแข่งขันพร้อมกับสหพันธ์เซปักตะกร้อฯ รับรองเสียก่อน ซึ่งเกมตะกร้อน้องใหม่นี้มีคิวเปิดตัวให้โลกได้รู้จักในศึกตะกร้อชิงแชมป์โลก ชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ครั้งที่ 35 ที่กำหนดจัดแข่งในเดือนกันยายนนี้ ที่จ.อุดรธานี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการนำนักกีฬาตะกร้อทีมชาติไทยพร้อมด้วยผู้ฝึกสอนมาทำการทดลองสาธิตการแข่งขันถ่ายทำเป็นวีดีโอส่งไปให้สหพันธ์ตะกร้อรับรองก่อนส่งไปให้ชาติสมาชิกได้ศึกษาการเล่นเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันจริงที่จังหวัดอุดรธานี
จริงๆ แล้วเรื่องกฏกติกาการแข่งขันก็ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะทุกชาติคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วทั้งเรื่องการนับคะแนน, ประเภทคู่ กับ ทีม 4 คน จะเป็นการเสิร์ฟท้ายคอร์ต ส่วนทีม 3 คน เสิร์ฟที่วงกลมกลางคอร์ต และผู้เล่นสำรอง ประเภทคู่ 1 คน, ทีม 3 , ทีม 4 และลอดห่วงสากล มีสำรองได้ 2 คน
ขณะที่ในแต่ละตำแหน่งนั้นาเบื้องต้นเท่าที่ทราบมา ไม่ว่าจะเป็น ผู้เล่นตำแหน่งเสิร์ฟ, ฟาด และ ตัวยก ไม่ได้ระบุ นั่นหมายความว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้
สำหรับลูกตะกร้อจะเป็นลูกตะกร้อที่ใช้แข่งขันของนักกีฬาหญิง ซึ่งจะเบากว่าลูกตะกร้อของนักกีฬาชาย แต่ตาข่ายหรือเน็ตจะใช้ความสูงของนักกีฬาชาย
ที่กล่าวมาเป็นกฏกติกาคร่าวๆ ที่ทราบมา ซึ่งที่ถูกต้องชัดเจนก็ต้องรอสหพันธ์ตะกร้อฯ ประกาศกติกาการแข่งขันจริงอย่างเป็นทางการต่อไป จะมีตรงไหนเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปอย่างไร คาดว่าประมาณ 1-2 เดือนหลังจากนี้น่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมนำส่งให่ชาติสมาชิกได้ใช้ฝึกซ้อมเตรียมนักกีฬา
ในตำแหน่งตัวเสิร์ฟ อาจมีคำถามว่าถ้าเป็นนักกีฬาชายเสิร์ฟแล้ว นักกีฬาหญิงจะสามารถเปิดรับได้หรือ?
“โค้ชโร่” วีรัส ณ หนองคาย ผู้ฝึกสอนตะกร้อหญิงทีมชาติไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเกมเปิดรับลูกเสิร์ฟของนักกีฬาหญิงดีกว่าแต่ก่อน จากที่ทดสอบการเล่นสามารถรับลูกได้ และเมื่อฟาดโต้กลับไปแล้วก็ใช่ว่านักกีฬาชายจะรับได้ นอกจากนี้ยังถือเป็นการฝึกและสร้างนักกีฬาหญิงให้มีศักยภาพแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
“เชื่อว่าจะเป็นประเภทใหม่ที่ได้รับความสนใจจากต่างชาติ” โค้ชโร่ กล่าว “ความได้เปรียบเสียเปรียบจะลดลง ความสนุกเร้าใจมีให้ลุ้นตลอดเกมการแข่งขันแน่นอน และโอกาสคว้าชัยชนะก็มีมากยิ่งขึ้น” อดีตนักหวดลูกพลาสติกทีมชาติไทย กล่าว
“ทุกชาติเริ่มรับจากศูนย์เหมือนกัน” ร้อยเอกสมพร แสนยบุตร ผู้ฝึกสอนตะกร้อชายทีมชาติไทย กล่าว “จะไม่มีทีมไหนเก่งไปกว่ากัน หากคิดว่านักกีฬาชายจะเสิร์ฟกินแต้มจากนักกีฬาหญิงได้ตอนนี้ไม่ง่ายเสมอไป และผลชนะ-แพ้ ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละทีมด้วย”
ด้าน “เพชฌฆาตรหน้าหยก” ภูตะวัน โสภา ตัวฟาดดาวรุ่งทีมชาติไทย ซึ่งได้มีโอกาสไปทดลองสาธิตการเล่น กล่าวว่า ทีมนั้นจะค่อนข้างได้เปรียบคู่ต่อสู้ หากนักกีฬาชายสามารถเล่นได้หลายตำแหน่ง เพราะจะช่วยนักกีฬาหญิงได้มาก
“อย่างไรก็ตาม ในเกมแข่งขันผมคิดว่าไทยยังได้เปรียบเหนือกว่าชาติอื่น” ตัวฟาดดาวรุ่งของไทย กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก SIAMSPORT