เกษตรกรสวนมะม่วง หันมาปลูกต้นอินทผลัม สร้างรายได้มากกว่า 2 แสนบาทต่อรอบฤดูกาล

แบ่งปัน

ในจังหวัดพิษณุโลก ถ้าหากพูดถึงผลไม้ขึ้นชื่อ ก็คงหนีไม่พ้น กล้วย จากอำเภอบางกระทุ่ม และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองส่งออกจากอำเภอเนินมะปราง แต่ถึงจะคุณภาพดีแค่ไหน ก็ยังหนีไม่พ้นพิษจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ชาวสวนมะม่วงใน จ.พิษณุโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะที่ อ.เนินมะปราง ที่นิยมปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เป็นพันธุ์ที่ขึ้นชื่อ และมีการส่งออกไปขายทั้งทั่วประเทศและต่างประเทศ

บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้คนที่อยู่ในแวดวงการเกษตรหาวิธีการแก้ไขปัญหา และหาทางออกร่วมกันอย่างไร เมื่อวันก่อนเราจะเห็นจากกลุ่มมะม่วงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อโพสขายระบายสินค้าเพื่อแก้ปัญหาสินค้าตกค้าง และยังมีอีกหลายจังหวัดมากมายที่ใช้วิธีขายออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่บทเรียนจากการขายครั้งนี้เราจำเป็นที่จะต้องให้เกษตรกรลุกขึ้นมาเรียนรู้เพื่อขายในช่องทางออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพื่อในอนาคตหากเกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้นมาอีกจะได้นำไปใช้เพื่อปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์นั้นๆ

ล่าสุด ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ พูดคุยกับคุณลุงสมชาย บัวเขียว อายุ 61 ปี เกษตรกรสวนมะม่วง ในพื้นที่บ้านไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ทำสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กว่า สิบไร่ แต่หลังจากเริ่มประสบปัญหาด้านการส่งมะม่วงขาย เมื่อวิกฤติโควิดครั้งแรก ประกอบกับ ได้มีการปรับพื้นที่สำหรับปลูกบ้านและเหลือพื้นที่ข้างบ้านประมาณ 1 ไร่ จึงได้ทดลองปลูกอินทผาลัม เพื่อเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้อีกด้วย

อินทผลัมของคุณลุงสมชาย เป็นสายพันธุ์ต่างประเทศที่นิยมนำมาปลูกในไทยเพื่อรับประทานเป็นผลสดคือ พันธุ์ Barhee หรือ Barhi (บาร์ฮีหรือบัรฮี) มีแหล่งกำเนิดในประเทศอิรัก ปัจจุบันมีการปลูกกันแพร่หลายในหลายประเทศ กล่าวกันว่า พันธุ์ Barhi เป็น “แอปเปิลแห่งตะวันออกกลาง” มีราคาต้นกล้าอยู่ที่ 6,000 บาท/ต้น ในพื้นที่ 1 ไร่ของลุงสมชาย สามารถติดผลได้เกือบ 100 ช่อ และจะสร้างรายได้ให้ในฤดูกาลนี้ มากกว่า 200,000 บาทอีกด้วย

การที่อินผลัมเป็นพืชไม้ผลที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนและแทบไม่มีฝน อีกทั้งยังทนแล้งได้ดี จึงทำให้คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า อินทผลัม เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากถึงปีละ 2,000-2,500 มิลลิเมตร (ประเทศไทยมีฝนตกปีละ 1,000-1,600 มิลลิเมตร) ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการอินทผลัมที่มีคุณภาพ จะต้องมีการดูแลรักษาที่ดี และต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้ง จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง

ผลอินทผลัมสามารถรับประทานได้แบบผลสด หรือเมื่อผลสุกจัดมักนิยมนำไปตากแห้ง ทำให้เก็บไว้ได้เป็นเวลาหลายปี มีลักษณะเหมือนการอบแห้งแบบหวาน จึงมักเข้าใจผิดว่ารสหวานจัดของอินทผลัมนั้นเกิดจากการแปรรูปด้วยการนำไปเชื่อมด้วยน้ำตาล จนไม่กล้ารับประทาน เพราะเกรงว่าจะอ้วนหรือไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ หากท่านใดสนใจสั่งจองอินทผลัมแบบทานสด ไม่ใช้สารเคมีในการปลูกและดูแล หรือสนใจต้นกล้าอินทผลัม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 083-954 8682 (น้องตู่ ลูกสาวคุณลุงสมชาย)