จังหวัดพิษณุโลก พบผู้เสียชีวิตเซ่นโควิดรายแรก เจ้าหน้าที่พร้อมญาติ นำร่างผู้เสียชีวิตฌาปนกิจทันที

แบ่งปัน

เมื่อเวลา 18.40 น. ของวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิปราสาทบุญสถาน พิษณุโลก ได้ร่วมกันนำร่างของผู้ป่วยโควิดที่เสียชีวิตจากนิติเวช โรงพยาบาลพุทธชินราช นำไปทำการฌาปนกิจศพ ที่เมรุวัดสระแก้วปทุมทอง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยผู้ป่วยโควิดรายนี้ เป็นชายอายุ 56 ปี เป็นชาวจังหวัดกำแพงเพชร ที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลพุทธชินราช เมื่อราวๆ 1 เดือนที่ผ่านมา แต่อาการไม่ดีขึ้น แล้วเสียชีวิตลง เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา แพทย์ได้แจ้งญาติ และได้นำศพมาทำพิธีฌาปนกิจศพทันที่ ซึ่งถือว่าผู้ป่วย covid-19 รายแรกของจังหวัดพิษณุโลก ที่เสียชีวิต โดยทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ทำการฌาปนกิจ ได้ทำตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด สวมชุด PPE พร้อมฉีดพ่นยาป้องกันบริเวณโดยรอบเมรุ

สำหรับจังหวัดพิษณุโลก หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศรับผู้ที่ป่วยจากจังหวัดเสี่ยง หรือ ป่วยอยู่มารักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพิษณุโลก นั้น พบว่า มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุดประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.00 น. ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่ม 41 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 506 ราย จำแนกเป็น ตรวจพบผู้ป่วยที่จังหวัดพิษณุโลก 23 ราย ได้แก่ อ.ชาติตระการ 9 อ.นครไทย 1 อ.เนินมะปราง 2 อ.พรหมพิราม 2 อ.เมือง 8 และ อ.วังทอง 1 ราย (มาจากพื้นที่เสี่ยง 18 สัมผัสกับผู้ป่วยรายก่อนหน้า 4 และ อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 1 ราย และคนพิษณุโลกป่วยโควิด-19 จากกรุงเทพฯ มารับการรักษาที่พิษณุโลก จำนวน 18 ราย แบ่งออกเป็น อ.ชาติตระการ 1 อ.นครไทย 3 อ.เนินมะปราง 1 อ.บางกระทุ่ม 1 อ.บางระกำ 3 อ.เมือง 4 อ.วังทอง 2 และ อ.วัดโบสถ์ 3 ราย แต่ก็มีข่าวดีที่มีผู้หายป่วยวันนี้ 3 ราย ยังคงรักษาอยู่ อีกจำนวน 152 ราย

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงกระทั่งเสียชีวิต ต้องเสียชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวภายใต้อุปกรณ์ช่วยเหลือชีวิตที่ห้อยระโยงระยางในห้อง ICU เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคที่ติดต่อง่ายและมีความรุนแรงสูง แพทย์จึงไม่สามารถให้ญาติเข้าไปดูใจในวาระสุดท้ายของผู้ป่วยได้

สิ่งที่ญาติสามารถทำได้คือการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อย่างบริบทของศาสนาพุทธ ญาติสามารถจัดพิธีงานศพเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตได้ และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถจัดพิธีได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการแพร่เชื้อจากผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ

  • เชื้อโควิด-19 อยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ เข้าสู่ร่างกายได้ 2 ช่องทางคือ การสูดหายใจ และการสัมผัสเยื่อบุตา/จมูก
  • ก่อนออกจากโรงพยาบาล ศพจะถูกบรรจุในถุงซิปกันน้ำ 2 ชั้น และทำความสะอาดด้านนอกของถุงแล้ว สารคัดหลั่งจึงไม่ปนเปื้อนออกมา

เมื่อบรรจุศพพร้อมถุงลงในโลงศพ และปิดฝาโลงให้สนิท ญาติสามารถนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการเผาหรือฝังศพจะไม่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อ แต่กระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำญาติผู้เสียชีวิตและผู้ประกอบพิธีทางศาสนา ดังนี้

  • สามารถสัมผัสถุงศพภายนอกโดยใส่ถุงมือยางแบบใช้แล้วทิ้งชั้นเดียว และสวมหน้ากากอนามัย แต่ไม่แนะนำให้สัมผัสถุงศพโดยไม่จำเป็น
  • ห้ามเปิดถุงบรรจุศพเพื่อดูศพ รดน้ำศพ ทำความสะอาดศพ เปลี่ยนเสื้อผ้า ฉีดน้ำยารักษาศพ หรือประกอบพิธีทางศาสนาอื่นๆ
  • สามารถตั้งศพเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาได้ โดยบรรจุถุงศพในโลงเย็น แต่แนะนำให้เผาหรือฝังศพโดยเร็ว เนื่องจากศพไม่ได้ฉีดน้ำยารักษาสภาพ
  • โลงเย็นและอุปกรณ์อื่นๆ ที่สัมผัสกับถุงศพสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.1%) 
  • เชื้อโควิด-19 ไม่แพร่เชื้อผ่านควันจากการเผาศพ และญาติสามารถเก็บเถ้ากระดูกได้ตามปกติ เพราะเชื้อถูกทำลายด้วยอุณหภูมิที่สูงไปหมดแล้ว

หากญาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งหมดอย่างถูกต้อง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เสียชีวิตแล้วจะไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ และเมื่อศาสนสถานรับประกอบพิธีกรรมจะประคับประคองจิตใจของญาติให้ไม่รู้สึกว่าญาติของเขาต้องเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวได้