ทีมวิจัยซากเชื้อ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างซากเชื้อในน้ำเสีย ที่ตลาดบ้านคลอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อวิจัยและคำนวณหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงค้างอยู่หลังจากเปิดตลาด โดยที่ผ่านมาพบว่ามีหลายโซนในพื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลก มีซากเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น ทำให้เชื้อว่าอนาคตยังมีผู้พบเพิ่มขึ้นด้วย
วันนี้ ( 11 ก.พ.) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่ไปยังตลาดบ้านคลอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อเก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย แล้วนำไปทำการวิจัยคำนวณหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงค้างอยู่หลังจากที่ได้ทำการปิดตลาดเพื่อฆ่าเชื้อและทำความสะอาดเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 – 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่ามีพ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งแผงขายของอยู่ในบริเวณตลาดติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งหลังจากที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในตลาดพ่อค้าแม่ค้ารวมถึงกลุ่มเสี่ยงก็ได้หยุดขายของและกักตัวจนครบกำหนดวันและเวลา
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภครวมถึงพ่อค้าแม่ค้าเอง ทางเทศบาลนครพิษณุโลกร่วมกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดให้มีการตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจATK ให้กับพ่อค้าแม่ค้าทุกวันพฤหัสของสัปดาห์และทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่แผงขายทุกแผงรวมถึงภายในบริเวณตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคที่มาใช้บริการภายในตลาด ซึ่งในการตรวจหาซากเชื้อในครั้งนี้จะทราบผลในวันจันทร์ที่ 14 ก.พ.นี้
ด้านผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิจัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัยนเรศวร รายงานของรอบการเก็บตัวอย่าง เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายโซนในพื้นที่ มีซากเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น แต่บางโซนซากเชื้อลดลง นอกจากนี้คณะวิจัยได้ดําเนินการวิเคราะห์ความเข้มข้นของ N gene (เอ็น-จีน) ของ SARS-CoV-2 ในตัวอย่างน้ําเสีย โสโครกดังกล่าว ด้วยเทคนิค RT- qPCR ได้ผลการวิเคราะห์โดยตรวจพบ RNA ของ SARS-CoV-2 จากตัวอย่างน้ําเสียโสโครกทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง ผลการคํานวณ แปลผล คาดการณ์ว่า ร้อยละของผู้ติดเชื้อเชิงพื้นที่มีแนวโน้มการเพิ่มของการระบาดอย่างมีนัยสําคัญ โดยเฉพาะด้านฝั่งแม่น้ำน่านตอนบน พบความเข้มข้นของซากเชื้อสูงมากเป็นประวัติการณ์ของการเก็บตัวอย่างในจังหวัดพิษณุโลก มีความเป็นได้ที่อาจจะมีผู้ติด เชื้อสายพันธุ์โอมิครอน แล้วยังไม่แสดงผล แล้วจะพบมีปริมาณเชื้อมากในอุจจาระ- ปัสสาวะ ของผู้ป่วยปล่อยออกมา จึงทําให้พบซากเชื้อในน้ําเสียโสโครกสูงผิดปกติ บริเวณนี้ และทางฝั่งขวามือของแม่น้ําน่าน การพบ RNA ของซากเชื้อ SARS-CoV-2 สูงเช่นกัน ทําให้คาดการณ์ได้ว่ามีผู้ติดเชื้ออีกประมาณ 29.03 % ของประชาชนที่อยู่ในเทศบาลบริเวณนี้
ผศ.ดร.ธนพล กล่าวอีกว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยได้หาซากเชื้อโควิดตามแหล่งน้ำเสียต่างๆในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกพบว่ามีปริมาณมาก ทำให้การทำนายว่าผู้ติดเชื้อโควิดในพิษณุโลกจะเพิ่มขึ้นอีก2 สัปดาห์ ก็พบว่า มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจริง และมีตัวเลขผู้ป่วยถึง 152 คนทีเดียว ล่าสุดจากการตรวจสอบในช่วงสัปดาห์นี้ พบซากเชื้อโควิดในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกเริ่มลดลง ซึ่งการทำนายก็คาดว่า จะพบผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ไม่มากนัก ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง
สำหรับการวิจัยนี้ได้เริ่มนำร่อง 6 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ และยะลา โดยเริ่มทำการตรวจตั้งแต่ช่วงกันยายน 2564 ที่ผ่านมา