U2T PSRU ส่งต่อความรู้และนวัตกรรมเสริมสร้างสรรค์แก่ชุมชน 102 ตำบล พิษณุโลก สุโขทัย

แบ่งปัน

มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม U2T PSRU ส่งต่อความรู้และนวัตกรรมเสริมสร้างสรรค์แก่ชุมชน เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน จำนวน 102 ตำบล ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย

วันที่ 19 กันยายน 2565 ที่หอประชุมศรีวชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม(ส่วนทะเลแก้ว) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้เปิดกิจกรรม U2T PSRU ส่งต่อความรู้และนวัตกรรม เสริมสร้างสรรค์แก่ชุมชน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแลสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ของมหาวิทยาลัย จำนวน 102 ตำบล และถอดบทเรียนการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามของเราต้องการที่จะพัฒนาท้องถิ่น ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ให้พ้นขีดความยากจนส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพโดยใช้ ความรู้ทางวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ เอาไปช่วยเหลือ คือถ้ายังไม่มีผลิตภัณฑ์เราก็ไปช่วยส่งเสริมให้มี ที่มีอยู่แล้วเราก็ไปพัฒนาต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นระบบการ Packaging หรืออาจจะเป็นเกี่ยวกับช่องทางการจำหน่าย ทางมหาวิทยาลัยฯ ก็ไปช่วยทั้งหมด 102 ตำบล ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย ทั้ง 2 จังหวัดนี้มี 179 ตำบล ในห้วงระยะนี้เราสามารถทำได้ 102 ตำบล ก็ค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จอย่างครอบคลุม ขณะนี้ใน 102 ตำบลที่เราเข้าดูแล ได้เสร็จสิ้นโครงการแล้วในส่วนของรัฐบาลที่ให้งบประมาณมา จากนี้ไปเราจะใช้งบของทางมหาวิทยาลัย ในการลงไปดูแลต่อยอดเราจะไม่ทิ้งทั้ง 102 ตำบลแน่นอน แต่เราจะเพิ่มไปอีก จาก 102 ตำบล ก็เพิ่มไปตามแต่ละตำบลที่มีความพร้อมเราก็จะไปช่วยดูแล เราจะใช้มหาวิทยาลัยเราเป็นฐาน ใช้วิชาการของอาจารย์เราที่จะลงไปดูแลท้องถิ่น สรุปว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม จะไม่ทิ้งท้องถิ่นแน่นอนเราขอให้คำมั่นสัญญาได้เลยว่าเราจะไม่ทิ้งถิ่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาได้กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ประสานงานดูแลโครงการนี้ ในส่วนของราชภัฏพิบูลสงครามก็จะเป็นพื้นที่ที่เราดูแลคือ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย อยู่แล้ว ตรงนี้เราจึงเข้าไปดำเนินการวิจัย ซึ่งโครงการ U2T PSRU แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสที่ 1 เริ่มปี 2564 ใช้เวลาทั้งหมด 11 เดือน ตรงนี้จะเป็นโครงการเกี่ยวกับเรื่องของการยกระดับเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสภาวะ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่วนในเฟสที่ 2 ปี 2565 ระยะเวลาอยู่ที่ 3 เดือน ตรงนี้จะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากช่วงหลังโควิด-19 สิ่งที่มหาวิทยาลัยเข้าไป เราจะเน้นในเรื่องของการถ่ายทอด องค์ความรู้นวัตกรรมในชุมชน โดยดูที่ ปัญหา ของชุมชนดูว่าชุมชนมีความต้องการอะไร หรือมีปัญหาอะไร ตัวอาจารย์ที่ดูแลเขาก็จะออกแบบกิจกรรมโดยใช้การมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นเพื่อที่จะดูว่าแนวทางในการแก้ปัญหาในช่วงที่เป็นกลางน้ำจะออกแบบอย่างไรบ้างซึ่งหลังจากที่เรามีการส่งเสริมยกระดับคือจะต้องมีประโยชน์นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง