พิษณุโลก ชิมน้ำพริกเม็ดบัวปลาย่างพร้อมเครื่องเคียงเกี๊ยวกลีบบัวหลวง

แบ่งปัน

พาไปชิมน้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง พร้อมเครื่องเคียงเกี๊ยวกลีบบัวหลวง กล้วยตากสอดไส้ลาบ เสิร์ฟพร้อมผักสด ไข่ต้ม ฝีมือนักเรียนชุมนุมอาหาร โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม ที่คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดแข่งขันน้ำพริกผักสดเครื่องเคียง ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ทางโรงเรียนนำมาต่อยอดให้เด็กนักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียนและมีความรู้ติดตัวสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ หลังเรียนจบไปแล้ว

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่วัดศรีสุคต บริเวณพระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงานแถลงข่าว เชิญชมงานแสดงแสง สี เสียง เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 9-13 สิงหาคม 2566 ซึ่งในวันนี้มีการนำอาหารพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อในจังหวัดมาร่วมออกบูธ นำเมนูต่างๆหลากหลายมาให้ชิม และที่ได้รับความฮือฮาที่สุดภายในงานคือ เมนูน้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง ที่เหมือนจะเป็นน้ำพริกธรรมดา แต่รสชาติ และที่มาที่ไป ไม่ธรรมดา เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงเป็นเกี๊ยวกลีบบัวหลวง และกล้วยตากสอดไส้ลาบ พร้อมด้วยเมนูผักสดพื้นถิ่น ของ ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ฝีมือของน้องนักเรียนชุมนุมอาหาร โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่มีดีกรีได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทการประกวดแข่งขันน้ำพริกผักสดเครื่องเคียง ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ที่ทางโรงเรียนได้นำมาต่อยอดถ่ายทอดให้กับนักเรียนชุมนุมอาหาร ได้ทำเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน และมีความรู้ติดตัวสามารถนำไปต่อยอดประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ระหว่างเรียนจบ

นายสุชาติ สาดอ่ำ อายุ 42 ปี อาจารย์ที่ปรึกษา โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม และดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ด้านความรู้และปฏิบัติการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติและด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของเมนู น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง ว่าเมื่อปีการศึกษา 2565 ทางโรงเรียนได้ร่วมการประกวดแข่งขันน้ำพริกผักสดเครื่องเคียง ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ซึ่งตอนนั้นเราต้องหาเมนูน้ำพริกที่ตอบโจทย์ให้ได้ และต้องเป็นเมนูที่สามารถไปแข่งขันกับ 16 จังหวัดภาคเหนือ 44 เขตการศึกษาให้ได้

จึงเริ่มต้นจากการนำอัตลักษณ์ของ ต.บ้านกร่าง นั่นคือเวลาช่วงฤดูน้ำหลากชาวบ้านแถบนี้จะหาปลานำมาแปรรูปเป็นปลาย่าง ติดครัวเรือนไว้เพราะสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลาย ประกอบกับตำบลบ้านกร่างมีบึงแม่ระหันซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่มีบัวหลวงขึ้นตลอดทั้งปี เราจึงนำ 2 อย่างนี้มาตั้งโจทย์ที่จะทำเป็นน้ำพริกก็คิดค้นสูตรอยู่นานพอสมควร ขั้นตอนการทำค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน เช่น ในน้ำพริกเราจะใส่วัตถุดิบคือรากบัวและเม็ดบัวเพราะจะให้ความมัน ความหวานอมเปรี้ยวของน้ำพริกเราจะใช้มะกรูดเชื่อม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆคลุกเคล้าไปในน้ำพริกแทนมะนาวหรือน้ำมะขามเปียก เนื้อที่ขาดไม่ได้คือเนื้อหมู และเนื้อกุ้ง ปรุงรสตามสูตร และสำคัญท้ายที่สุดคือปลาป่น ที่ทำจากปลาสร้อยปลาซิวย่างแล้วนำมาโขลกมือ จนเนื้อละเอียดฟู ให้ความหอมของปลการศึกษาให้ได้อย่าง เพิ่มรสชาติความอร่อย จึงกลายมาเป็นเมนูน้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง ซึ่งน้ำพริกจะทานคู่กับผักสด อาทิ ไหลบัว ใบบัวบก มะเขือ แตงกวา ถั่วฟักยาว แต่ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับเครื่องเคียง คือ เกี๊ยวกลีบบัวหลวงทอด ที่เรานำกลีบบัวหลวง มาห่อด้วยไส้ที่มีส่วนผสมของกล้วยตาก แล้วนำไปชุบแป้งแล้วจึงทอดให้กรอบเหลือง พร้อมกับกล้วยตากของดีขึ้นชื่อของจังหวัดพิษณุโลก ที่สอดไส้ด้วยลาบหมู แล้วนำไปชุบแป้งทอด และนำขึ้นมาตัดพอดีคำ เวลาทานก็นำมาจิ้มกับน้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง แอ้มด้วยผักสด อร่อยนัวร์ ใครทานก็ต้องติดใจ

ซึ่งภายในงานแถลงข่าว นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วน และแขกผู้ที่เข้าร่วมงาน ได้แวะมาชิมถึงกับติดใจในรสชาติ ต่างซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย นอกจากนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้กล่าวว่า จะผลักดันเมนูน้ำพริกเม็ดบัวปลาย่างได้ขึ้นโต๊ะเสวยของจังหวัด เพื่อไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนจังหวัดพิษณุโลกของเราอีกด้วย สำหรับใครที่สนใจอยากจะชิมเมนูน้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง ฝีมือนักเรียนชุมนุมอาหารของโรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม เพื่ออุดหนุนให้เด็กๆ ได้มีรายได้ระหว่างเรียน ก็สามารถติดต่อสั่งซื้อ หรือติดต่อเชิญไปร่วมงานออกบูธต่างๆได้ โดยน้ำพริกจะขายกระปุกละ 35 บาท 3 กระปุก 100 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ทางเพจ Facebook : OTOP by BK. หรือสอบถามได้ทาง อาจารย์สุชาติฯ (อาจารย์ที่ปรึกษา) ทางหมายเลขโทรศัพท์ 087-2003990

ขอบคุณภาพ ธเนส อนุดิษฐ