สภาฯม.นเรศวรจ่อยื่นอุทธรณ์! เหตุเพิกถอนมติตั้ง ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี นั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย

แบ่งปัน

จากกรณี ศาลปกครองพิษณุโลก มีคำพิพากษาเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มติให้ รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565

โดยศาลปกครองพิษณุโลก วินิจฉัยว่า รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ เป็นภรรยาของนายบุญทรง แทนธานี กรรมการบริษัท เกียรติธานี คอนสตรัคชั่น (1990) จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าว เคยประมูลรับเหมางานของมหาวิทยาลัย ต่อมา บริษัทดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการนับระยะเวลา การคิดค่าปรับ กรณีส่งงานล่าช้า ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ศาลปกครองเห็นว่า รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ มีคุณลักษณะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย อันอาจจะขัดกับผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนมติดังกล่าว

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 สภามหาวิทยาลัยนเรศวรมีมติให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลก คดีแดงที่ บ 62/2566 ในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวรครั้งที่ 316 (1 1/2566) เมื่อวันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2566 โดยมีรายละเอียดของคำพิพากษาสรุปได้ ดังนี้

1) ศาลพิพากษายกฟ้องคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เป็นไปตามมาตรา 5 แห่ง พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539)

2) ศาลพิพากษาว่ากระบวนการสรรหาธิการบดี ที่ดำเนินการโดยกรรมการสรรหาฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน อาทิ องค์ประกอบของกรรมการสรรหา การไม่ถ่ายทอดการแสดงวิสัยทัศน์ การตั้งคำถาม และการใช้ดุลพินิจกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี จำนวน 2 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยนเรศวร

3) ศาลพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 295 (3/2565) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มีมติแต่งตั้งผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยตุลาการเสียงข้างมากได้ให้เหตุผลว่าคู่สมรสของผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมีชื่อเป็นกรรมการบริษัทเกียรติธานีฯ ระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2564 – 2 มีนาคม 2565 อันเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในระหว่างการสรรหาอธิการบดี จึงถือได้ว่าผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยอ้อมผ่านคู่สมรสอันอาจมีผลกระทบถึงความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะในการต่อสู้คดีคู่สมรสของผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ มากกว่าผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

อย่างไรก็ดีตุลาการเสียงข้างน้อย (เจ้าของสำนวน) ได้มีความเห็นแย้งว่าการเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันอาจขัดหรือแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวมนั้นจะต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (เป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งแล้ว) ที่จะต้องใช้ดุลพินิจสั่งการกำกับดูแลกิจการอันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม แล้วมีประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีนี้ปรากฎว่า

ขณะที่บริษัทฯ เข้ามาประมูลงานและทำสัญญาจนสิ้นสุดสัญญา คู่สมรสของผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ไม่ได้มีชื่อเป็นกรรมการบริษัท อีกทั้งสภาของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ การดำเนินการด้านคดีจึงอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการอุทธรณ์ ฎีกา คดีแพ่ง และการอุทธรณ์คดีปกครอง ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.2/ว44 ดังนั้นการที่คู่สมรสของผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมีชื่อในบริษัท ระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2564 – 2 มีนาคม 2565 (ช่วงเวลาของการสรหาธิการบดี) และสภามหาวิทยาลัย มีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2565 (วันที่เข้ารับตำแหน่ง) เป็นต้นไป ซึ่งคู่สมรสมิได้มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทแล้ว จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอันอาจทำให้มหาวิทยาลัยเสียหาย อันจะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย อันอาจขัดหรือแย้งกับมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าการลงคะแนนเสียงของสภามหาวิทยาลัยที่มีมติแต่งตั้งผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมีเหตุแห่งความบกพร่องในการใช้ดุลพินิจโดยชัดแจ้งแต่อย่างใด ตุลาการเสียงข้างน้อยจึงมีความเห็นว่าคดีนี้ควรพิพากษายกฟ้อง และตุลาการผู้แถลงคดีก็มีความเห็นไปในทางเดียวกับตุลาการเสียงข้างน้อย

อีกทั้งยังมีหนังสือจากสำนักงานคดีปกครองพิษณุโลก ลงรับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 แจ้งว่าสำนักงานคดีปกครองพิษณุโลก พิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลกยังไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงมีความเห็นควรอุทธรณ์

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งหมด รวมทั้งความเห็นจากที่ปรึกษากฎหมายของสภามหาวิทยาลัยนเรศวร สภามหาวิทยาลัยนเรศวรจึงมีมติให้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ และเกิดบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการตรวจสอบคุณสมบัติ และกลั่นกรองรายชื่อของอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ อนึ่ง อธิการบดียังสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 70 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้รอการปฏิบัติตามคำบังคับไว้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ ให้รอการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด)

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ชะลอเรื่องการแต่งตั้งอธิบการบดี โดยไม่นำความขึ้นขอโปรดเกล้าฯมาแล้วปีกว่า จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุด ขณะนี้ รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี ยังคงดำรงตำแหน่งเป็น รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร