หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก เร่งทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่ประสบภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง

แบ่งปัน

ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่ท่าอากาศยานกองบิน 46 เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ได้ลำเลียงสารทำฝนหลวงขึ้นเครื่องบินคาราแวน ซึ่งมาประจำการที่ฐานปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 3 ลำ โดยสามารถบรรทุกสารทำฝนหลวงได้ลำละ 700 กิโลกรัมต่อเที่ยว วันนี้นักบินได้บินปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดพิจิตร และกำแพงเพชร หลังได้รับการร้องขอจากเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งกำลังประสบภัยแล้งอย่างหนักในขณะนี้ พื้นที่นาข้าวที่ลงมือเพาะปลูกแล้ว ขาดแคลนน้ำ โดยได้ทำการตรวจสอบสภาพอากาศ ก่อนที่จะบินปฏิบัติการพบกลุ่มก้อนเมฆและความชื้นสัมพัทธ์เหมาะสม จึงเร่งปฏิบัติการทันที และหลังจากนี้จะยังคงบินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ น่าน และพื้นที่ลุ่มน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนแม่มอก เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนหลักในพื้นที่รับผิดชอบ

นางสาวหนึ่งฤทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า มีการติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศตั้งแต่ระดับภูมิภาค มีทั้งระยะยาวระยะกลางและระยะสั้น แต่สำหรับการทำฝนหลวงจะต้องเป็นวันต่อวันมัน จะเป็นระยะสั้นมากที่จะต้องดูการเปลี่ยนแปลงของอากาศวันต่อวัน แต่การคาดหมายก็จะเป็นในเรื่องของการเตรียมความพร้อมว่าโอกาสที่การเกิดฝนทิ้งช่วงจะเกิดช่วงไหน และจะมีการติดตามการขาดแคลนน้ำของพื้นที่ มีการเอามาใช้ทำในลักษณะโปรแกรมเฉพาะของกรมฝนหลวงเป็นgo map ทั้งในเรื่องของชนิดของพืชเพาะปลูกมีความต้องการน้ำระยะการเจริญเติบโตมีพื้นที่อยู่ตรงไหนบ้าง ประมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมาว่าน้อยกว่า10 มิลลิเมตรหรือเปล่า ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนต่าง ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่ง ยังมีในส่วนของความชื้นในดินที่จะเอามาใช้ประมวลพื้นที่ขอฝนร่วมกับที่ขอฝนกันเข้ามา การขอฝนก็จะมีทั้งอาสาสมัครฝนหลวงที่ประสานเป็นตัวแทนในพื้นที่ติดต่อเข้ามา มีเกษตรกรที่ติดต่อเข้ามา อีกส่วนหนึ่งก็จะขอผ่านทาง Social อย่างเช่นFacebookของกรม จะมีผู้ที่ติดต่อเข้ามาแล้วก็จะเอาทั้งหมดมาประเมินสถานการณ์ว่าพื้นที่วิกฤตต้องการน้ำจะอยู่บริเวณใดบ้าง เพราะว่าเวลาที่แล้งมันจะเกิดพร้อม ๆ กัน แต่เราก็จะมาลำดับความวิกฤตเพื่อที่จะวางเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่ของทุกหน่วยปฏิบัติการ ช่วงนี้สภาวะอากาศช่วง 2-3 วันที่ผ่านจะมีลักษณะของของเมฆที่ยังไม่ค่อยเหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวง แต่ก็สามารถปฏิบัติการได้ระดับหนึ่งจะมีฝนตกบางแห่งอย่างเช่นของเมื่อวานนี้ของหน่วยพิษณุโลกก็จะไปทำช่วยทางกำแพงเพชร พิจิตร ก็มีฝนตกทางกำแพงเพชรบางพื้นที่ เพราะว่าลักษณะที่คาดหมายว่าเป็นช่วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วงก็คือโอกาสของการเกิดฝนในธรรมชาติก็จะน้อยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสของการทำฝนหลวงก็จะน้อยตามไปด้วย แต่ในส่วนของนักวิชาการก็จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างที่บอกว่าวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง อย่างช่วงเช้าอาจจะดูนิ่งๆยังไม่น่าจะเกิดผลได้อยู่แล้วในช่วงเช้า แต่สามารถที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนก่อเมฆได้หรือไม่ หรือว่ากลุ่มเมฆมีขนาดโตพอที่จะไปเลี้ยงให้โตเร็วขึ้นหรือโจมตีได้ ที่ผ่านมาฝนตกเล็กน้อยแต่เป็นบางพื้นที่ จะเป็นในพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิจิตร พื้นที่ไหนที่ยังไม่มีฝนก็จะติดต่อขอฝนกันเข้ามา   

ขณะที่นักบินที่สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงนั้นไม่ได้พักเนื่องจากต้องเร่งฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือ
ประชาชนที่เดือนร้อนเป็นช่วงยาวติดต่อกัน ถึงแม้นในวันที่ทุกครอบครัวพร้อมกันไปทำบุญในวันเข้าพรรษานั้น นักบินก็ยังคงเร่งบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างไม่ปริปากบ่น แถมยังบอกกับผู้สื่อข่าวอีกว่ามีความสุข และนี่แหละคือการทำบุญวันเข้าพรรษา พันตรี ภูมินทร อรรถีโสตร (กัปตันหนุ่ม) กล่าวกับสื่อด้วยรอยยิ้ม แถมยังให้ข้อมูลารทำฝนว่าขั้นตอนที่ 2  เลี้ยงเมฆให้อ้วน  เป็นการเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำให้กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากขึ้น  ใช้สารเคมีผงแคลซียมคลอไรด์โปรยเข้าไปที่กลุ่มเมฆที่มีความสูงประมาณ 8,000 ฟุต  หรือสูงกว่าฐานเมฆประมาณ 1,000 ฟุต   ขั้นตอนนี้สามารถเร่งกิจกรรมการกลั่นตัวของไอน้ำได้เร็วกว่าที่จะปล่อยให้เจริญขึ้นเองตามธรรมชาติ  เมฆใหญ่อาจจะก่อยอดขึ้นถึงระดับ  15,000 ฟุต  ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นส่วนของเมฆอุ่น  แต่ในบางครั้งยอดเมฆอาจจะสูงถึง 20,000 ฟุต  ซึ่งถือว่าเป็นส่วนของเมฆเย็น (เริ่มตั้งแต่ประมาณ 18,000 ฟุต)
ข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เตือนสถานการณ์เขื่อนมีน้ำใช้การน้อยขั้นวิกฤติ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำ 0% เขื่อนสิรินธร มีน้ำ 1% เขื่อนป่าสัก ชลสิทธิ์ มีน้ำ 6% เขื่อนคลองสียัด มีน้ำ 6% เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำ 7% เขื่อนภูมิพล มีน้ำ 8% เขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำ 9% เขื่อน กระเสียว มีน้ำ 10% เขื่อนแควน้อย มีน้ำ 12% เขื่อนทับเสลา มีน้ำ 13% เขื่อนขุนด่าน ปราการชล มีน้ำ 13% เขื่อนลำพระเพลิง มีน้ำ 14% เขื่อนแม่กวง มีน้ำ 15% เขื่อนนฤบดินทรจินดา มีน้ำ 16% เขื่อน วชิราลงกรณ มีน้ำ 17% เขื่อนน้ำพุง มีน้ำ 18% เขื่อนห้วยหลวง มีน้ำ 18% เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำ 19% ของความจุอ่าง

ภาพ ข่าว / พรหมพร เจ้าค่ะ