กองทัพภาคที่ 3 ตั้ง “ศูนย์ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ”

แบ่งปัน

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เวลา 14.00 น. ที่กองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีการแถลงข่าวเรื่องภัยแล้งในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 3 เป็นผู้แถลง

ด้วยปัจจุบันประเทศไทยได้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ทำให้พื้นที่กักเก็บน้ำมีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีบัญชาให้จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ เพื่อติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที ในการนี้ กองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ กองทัพภาคที่ 3” โดยมี แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้บัญชาการศูนย์ติดตามสถานการณ์ฯ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าว ในภารกิจดังนี้

1. อำนวยการ ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือทั้งปวงในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และสนับสนุนการเข้าช่วยเหลือมอบน้ำอุปโภค บริโภค ให้กับประชาชนที่ประสบปัญหา 
2. สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ และการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 
ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้ มณฑลทหารบก ทั้ง 10 หน่วย ร่วมกับหน่วยขึ้นตรง กองทัพภาคที่ 3 (กองพลทหารราบที่ 4, กองพลทหารราบที่ 7, กองพลทหารม้าที่ 1, กองพลพัฒนาที่ 3, และกองบัญชาการช่วยรบที่ 3) จัดตั้ง “ศูนย์ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ มณฑลทหารบก” เพื่อประสานการปฎิบัติกับผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังนี้

1. พื้นที่ในเขตชลประทาน โดยการบริหารจัดการน้ำใช้ทางการเกษตรและการทยอยปลูกพืชโดยใช้น้ำฝน
2. พื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ, การสนับสนุนเครื่องมือ และรถบรรทุกน้ำ
3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีการปรับแผนการใช้น้ำ ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำต้นทุนที่แท้จริง
4. การทำฝนหลวง
5. การบริหารจัดการน้ำฝนที่ตกลงมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
6. การทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยง ในรัศมี 50 กิโลเมตร เพื่อวางแผน การป้องกันภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น
7. ให้หน่วยทหารร่วมกับส่วนราชการ พิจารณาขุดบ่อบริเวณคลองหรือแหล่งน้ำ ซึ่งคาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง เป็นน้ำสำหรับใช้อุปโภค
8. เมื่อได้รับการร้องขอจากประชาชน ให้หน่วยทหารดำเนินการสืบสภาพปัญหา ตลอดจนขอบเขตของภัยที่เกิดขึ้น แล้วให้บูรณาการด้วยการระดมขบวนรถบรรทุกน้ำของทุกภาคส่วน เข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างรวดเร็ว

ในขณะนี้มีพื้นที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและน้ำขาดแคลน ได้เกิดขึ้นแล้ว จำนวน 5 จังหวัด 9 อำเภอ ได้แก่ ลำดับ จังหวัดพื้นที่
1.กำแพงเพชร อำเภอทรายทองวัฒนา, อำเภอไทรงาม และอำเภอบึงสามัคคี
2.ลำปาง อำเภอเมือง และอำเภอเถิน
3.พะเยา อำเภอเมือง
4.พิจิตร อำเภอบึงนาราง และอำเภอวชิรบารมี
5.สุโขทัย อำเภอเมือง

แม่ทัพภาคที่ 3 ได้สั่งการให้ มณฑลทหารบกที่ 31, มณฑลทหารบกที่ 32, มณฑลทหารบกที่ 34, มณฑลทหารบกที่ 36 และมณฑลทหารบกที่ 39 เป็นผู้ดำเนินการและประสานการปฎิบัติ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร่งด่วน ผ่านช่องทางของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงมหาดไทยต่อไป

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนประสบปัญหาภัยแล้งดังกล่าวในพื้นที่ กรุณาแจ้งให้หน่วยงานทหารที่อยู่ ใกล้บ้านหรือ ศูนย์ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ ณ ห้องคชรัตน์ 2 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์/โทรสาร 0 5524 2859 ทราบ เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป