สถานการณ์ภาพรวมภาวะฝนแล้ง ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก

แบ่งปัน

นายพชร ศศิชาชยามร หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลกแถลงสื่อมวลชนการเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรในการเข้าช่วยเหลือประชาชน หลังประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง พื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา ในจังหวัดพิษณุโลกมีฝนตกลงมาจำนวนน้อยซึ่งมีผลกระทบกับผู้ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม เป็นจำนวนมาก ประกอบกับระดับในเขื่อนสำคัญที่ส่งน้ำให้จังหวัดพิษณุโลกได้แก่เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย จากสถานการณ์ดังกล่าว จังหวัดพิษณุโลกกำหนดให้มี การดำเนินการดังนี้ 1. ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ในทุกอำเภอและจังหวัด โดยกำหนดให้อำเภอ ประชุมทุกวันจันทร์ และรายงานให้จังหวัดทราบภายในเวลา 16.00 น. 2. จังหวัดประชุมทุกวันอังคาร เวลา 15.30 น. เพื่อรับทราบสถานการณ์และแก้ไขปัญหาของแต่ละอำเภอ 3. มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ท) และปลัดจังหวัด ออกตรวจติดตาม ประชุมร่วมกับอำเภอ เพื่อรับทราบสถานการณ์และแก้ไขปัญหาในพื้นที่

จากการประชุมติดตามสถานการณ์ของจังหวัดทุกวันอังคาร สำหรับข้อมูลวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2562 ของแต่ละอำเภอ ทราบว่า ข้าว มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 32,971 ไร่ และคาดว่าจะเสียหาย 10,196  ไร่ (7 อำเภอ  ได้แก่อำเภอบางระกำ, บางกระทุ่ม, พรหมพิราม, วัดโบสถ์, เนินมะปราง ,นครไทย และชาติตระการ)  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 21,139 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 5,655 ไร่  (4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางระกำ,พรหมพิราม เนินมะปราง, ชาติตระการ)  มันสำปะหลัง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1,170 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 500 ไร่ (3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม, เนินมะปราง, ชาติตระการ)  อ้อย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 732 ไร่ (2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม, เนินมะปราง)

ภาพ / โครงการชลประทานพิษณุโลก

สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝนแล้ง แต่ยังไม่ได้รับความเสียหาย จังหวัดได้ดำเนินการให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำและอนุมัติงบประมาณของผู้ว่าราชการจังหวัด ในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนเป็นค่าน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9  พิษณุโลก เพื่อยับยังไม่ให้พืชผลทางการเกษตรของประชาชนได้รับความเสียหาย

ภาพ / โครงการชลประทานพิษณุโลก