สกก.นิคมฯ บางระกำ หนุนสมาชิกปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้เสริม

แบ่งปัน

นายสมศักดิ์ แสนศิริ สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ผลผลิตได้รับความเสียหาย ขาดแคลนรายได้ หนี้สินเพิ่มขึ้น กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายสนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จึงวางแผนการส่งเสริมสมาชิกปลูกพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อยและตลาดมีความต้องการสูง ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสหกรณ์การเกษตรนิคมฯ บางระกำ จำกัด โดยคณะกรรมการสหกรณ์ ฝ่ายจัดการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมประชุมหาแนวทางการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกให้เกษตรกรได้มีอาชีพเสริมจากการปลูกพืชสมุนไพรที่ตลาดต้องการ

สหกรณ์ฯ จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข่าตาแดง ร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งข่าตาแดงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยสหกรณ์ได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ และมีหนี้ค้างชำระ เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร นางกฤษณา ธรรมะชีวัน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรนิคมฯ บางระกำ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรที่สนใจสมัครใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกข่าตาแดง จำนวน 28 ราย พื้นที่เพาะปลูก 53 ไร่ สหกรณ์สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรใช้เป็นทุนในการเพาะปลูก เฉลี่ยรายละไม่เกิน 2 ไร่ ไร่ละ 35,000 บาท

โดยจัดอบรมให้ความรู้ทางวิชาการด้านการเพาะปลูก การดูแลรักษา การขุดผลผลิตจำหน่าย รวบรวมผ่านสหกรณ์และมีผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามารับซื้อผลผลิตในราคาประกัน กิโลกรัมละ 9 บาท ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูกจะไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายทุกประเภท หลังจากลงทุนเพาะปลูกข่าตาแดงในรอบแรก เกษตรกรสามารถขุดผลผลิตขายได้นานถึง 5 ปี หากเกษตรกรมีความใส่ใจ หมั่นดูแลแปลงเพาะปลูกสม่ำเสมอ ตามขั้นตอนที่ได้รับคำแนะนำ จะทำให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จนสามารถส่งชำระหนี้ให้กับสหกรณ์และมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในครัวเรือนต่อไป

ด้านนางมะลิ แก้วกร สมาชิกสหกรณ์การเกษตรฯ นิคมบางระกำ จำกัด เล่าว่า เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา ตนได้เข้าร่วมโครงการฯ เริ่มทดลองเพาะปลูกในพื้นที่ 2 ไร่ ใช้ระยะเวลา 8 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จำนวน 1,000 กิโลกรัม จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 25 บาท รวมเป็นเงิน 25,000 บาท สามารถขุดผลผลิตขายในรอบต่อไปได้ทุก 3 เดือน จึงมีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากเดิม  ซึ่งตนเองมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 10 ไร่ ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้นำไปขายให้กับสหกรณ์และตลาดนัดชุมชน ทำให้ครอบครัวมีรายได้หมุนเวียนตลอดปี