จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 โดยระบุว่า จากการเฝ้าระวัง มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 22,639 ราย เสียชีวิต 12 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15 – 24 ปี รองลงมาคือ 10 – 14 ปี และ 25 – 34 ปี ตามลำดับ ผู้ป่วยมีการกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคตะวันออก รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระยอง ชัยภูมิ ขอนแก่น อ่างทอง ราชบุรี และจังหวัดพิษณุโลกอยู่ในอันดับที่ 30 ของประเทศ
นายแพทย์ ไกรสุข เพชระบูรณิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และนายสมชาย พรหมมณี ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เตือนพี่น้องประชาชนชาวพิษณุโลกให้ระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากหลายพื้นที่ยังมีฝนตกจาก พายุฤดูร้อน อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก โดยในจังหวัดพิษณุโลกพบมีผู้ป่วยทั้งหมด 279 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต อำเภอที่พบมากที่สุดในจังหวัดพิษณุโลกได้แก่ อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุม อำเภอเมือง ข้อมูลเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ อาการที่พบส่วนใหญ่มักมีไข้สูงลอย 2 – 5 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน อาจมีอาการไอแต่ไม่มีน้ำมูก มีจุดเลือดออกตามตัว เลือดออกตามไรฟัน หลังไข้ลดแล้วมีอาการซึม อาจเข้าสู่ภาวะช็อค ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด ภาวะติดสุรา ธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วย มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์ 2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย