เมื่อเวลา 14.00 น. ( 4 สิงหาคม 63) พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 สั่งการให้ พลตรี จาตุรงค์ เชื้อคำฟู ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 3 ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองพลพัฒนาที่ 3 เป็นประธานการตรวจความพร้อมยุทโธปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ณ สนามหญ้ากองบังคับการ กองพันทหารช่างที่ 302 กรมทหารช่างที่ 3 ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก สมหมาย หาญสุวรรณ ผู้ช่วยเลขานุการ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 3 เข้าร่วมตรวจความพร้อมฯ
พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าวและได้กรุณาสั่งการ ให้หน่วยเตรียมการเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดสถานการณ์ในทันที รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาความเดือดร้อน ลดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน จากการติดตามสถานการณ์ การเกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จากสถานการณ์ พายุระดับ 3 (โซนร้อน ชินลากู)
ส่งผลให้ในพื้นที่มีฝนตกหนักมากมายหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ปริมาณน้ำฝนสะสมอาจทำให้น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ที่เป็นแอ่งกระทะ เช่น ตำบลน้ำกุ่ม, ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย ในพื้นที่ฝนตกหนัก และไม่สามารถระบายได้ทัน ในพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก ในครั้งนี้จะมีอยู่ 3 จุด ที่วิกฤติ คือบริเวณ ตำบลน้ำกุ่ม และ ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย, บริเวณลำน้ำภาค ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ และบริเวณทางหลวงหมายเลข 11 ในพื้นที่ อำเภอวังทอง ปัญหาดินโคลนถล่มนั้น ในพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก จะมีอยู่ 3 จุด คือ รอยต่อระหว่าง อำเภอนครไทย กับ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทางไป ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย และ รอยต่อระหว่าง อำเภอนครไทย กับ อำเภอชาติตระการ
ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 นั้น มีพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีหน่วยรอง รับผิดชอบในพื้นที่ จังหวัดจำนวน 15 หน่วย มี มณฑลทหารบกเป็นหน่วยงานหลัก ในการรับผิดชอบ และหน่วยทหารช่างเป็นหน่วยสนับสนุน เนื่องจากมียุทโธปกรณ์ และเครื่องมือหนักในการเข้าแก้ไขปัญหา แต่อย่างไรก็ยังเป็นการทำงานแบบบูรณาการ โดย ผบ. เหตุการณ์ จะจัดจากส่วนปกครอง คือ อำเภอ หรือจังหวัด เป็นหน่วยงานหลัก ในการตั้งกองอำนวยการ
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแนวโน้ม ที่อาจเกิดภัยพิบัติ การเตรียมการป้องกันพื้นที่ ที่สำคัญ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการอพยพ การขนย้ายสิ่งของ ซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย หน่วยได้จัดกำลังพล กองร้อยบรรเทาสาธารณภัย โดยมีการจัดกำลังพล จำนวน 150 นาย แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
1. บก.ร้อย. มีหน้าที่ควบคุม และประสานงานจากคำสั่งหน่วยเหนือ และการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้างาน
2. หมวด ช่วยเหลือประชาชน เป็นชุดปฏิบัติงานหลักในการช่วยเหลือประชาชนในขั้นต้น และยังสามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย
3. หมวดเรือ เป็นหน่วยที่เข้าแก้ไขปัญหาในการช่วยเหลือเป็นหลัก
4. หมวดเครื่องมือ เป็นหน่วยที่มีเครื่องมือช่างทำให้แก้ไขปัญหาที่คนไม่สามารถทำการแก้ไขปัญหาได้
5. หน่วยสนับสนุน ชุดเสนารักษ์ ชุดซ่อมบำรุง และชุดประปาสนาม เป็นชุดที่สนับสนุนทำภารกิจการช่วยเหลือมีประสิทธิภาพสูงสุด