ปศุสัตว์จังหวัด เตือนภัย โรคปากและเท้าเปื่อย ระบาดแล้วในหลายอำเภอ

แบ่งปัน

ตามที่จังหวัดพิษณุโลก ประกาศ กำหนดเขตเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot  and Mouth Disease)  ในวันที่ 9 กันยาน 2563 ทำให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการควบคุมการเคลื่อนย้าย และระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยบริเวณรอบจุดเกิดโรค รัศมี 5 กิโลเมตร และรักษาสัตว์ป่วยตามอาการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มเติมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ด้านนางสาวธมลวรรณ ศรีบรรเทา นายสัตว์แพทย์ชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก เล่าว่าโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ในโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร โรคนี้สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์

สำหรับจังหวัดพิษณุโลกพบแล้วในเขตของ อำเภอนครไทย อำเภอวังทอง อำเภอบางกระทุ่ม และอำเภอเมือง จำนวนอำเภอละ 2 – 3 ตัว และยังได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยบริเวณรอบจุดเกิดโรค รัศมี 5 กิโลเมตร

สำหรับอากาศเบื้องต้น สัตว์จะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองหรือแผล บริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านมรวมทั้งไรกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก  โดยทั่วไปไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยตาย แต่สัตว์อาจตายได้จากภาวการณ์ติดเชื้อแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อแบคทีเรียหรือจากปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากสัตว์เบื่ออาหารและอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจสร้างความรุนแรงและเป็นสาเหตุการตายในลูกสัตว์ได้เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย

สำหรับการป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยสำหรับฟาร์มเกษตรกรนั้น  สามารถป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มได้โดย งดนำสัตว์จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเข้ามาเลี้ยงอย่างน้อย 1 เดือน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่โค กระบือ แพะ แกะ อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ตามรอบรณรงค์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ให้เข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม ห้ามยานพาหนะทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่มีการเข้าออกหลายฟาร์ม หรือไปโรงฆ่าสัตว์ เข้ามาภายในฟาร์มเด็ดขาด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและจัดให้รถดังกล่าวอยู่ไกลจากสถานที่เลี้ยงสัตว์มากที่สุด