วอลเลย์บอลสาวไทย ส่อชวดตบซีเกมส์ หลัง ‘อินโดฯ’ถอนตัว

แบ่งปัน

วอลเลย์บอลสาวไทย ส่อแววไม่ได้แข่งขันในมหกรรมซีเกมส์ ที่ประเทศเวียดนาม หลังทัพลูกยางสาวทีมชาติ อินโดนีเซีย ถอนตัวไม่เข้าร่วมการแข่งขัน

นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ โดยมีตัวแทน 43 สโมสรสมาชิก และผู้แทนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เข้าร่วมการประชุมด้วย ที่โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม

ประธานแจ้งที่ประชุมถึงรายงานผลการปฏิบัติงานของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้จัดการแข่งขันในประเทศทุกระดับ และส่งนักกีฬาไปแข่งขันในต่างประเทศ เพื่อพัฒนานักกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชนถึงรุ่นประชาชน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาวอลเลย์บอลสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติประจำประเทศไทย ซึ่งได้จัดการอบรมผู้ฝึกสอนนานาชาติ

จากนั้นฝ่ายวอลเลย์บอลอาชีพแจ้งการดำเนินงานในการจัดวอลเลย์บอลอาชีพ รายการ เอสโคล่า วอลเลย์บอล ไทยแลนด์ ลีก 2021-2022 และเหรัญญิกชี้แจงงบดุลรายรับ-รายจ่าย และบัญชีงบดุล ประจำปี 2564 รวมรายได้ 161,873,885.06 บาท และรวมรายจ่าย 155,479,431.84 บาท ซึ่งมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย 6,394,453.22 บาท

สำหรับแผนปฏิบัติงานของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ ประจำปี 2565 ซึ่งเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลทั้งในประเทศ ระดับเอเชีย และระดับโลก ต้องเลื่อน และยกเลิกในบางรายการ ซึ่งสมาคมได้ปรับปรุงปฏิทินการปฏิบัติงานของสมาคมให้เป็นปัจจุบันที่สุด

นอกจากนี้ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ฉบับที่ 4 (2565-2570) เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ให้มีความสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินของ กกท. โดยใช้กีฬาวอลเลย์บอลเป็นเครื่องมือในการสร้างคนให้มีคุณภาพ มุ่งสู่กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และกีฬาอาชีพอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นองค์กรกีฬาชั้นนำในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ได้วิเคราะห์จุดแข็ง และจุดอ่อนของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ ซึ่งยังไม่มีศูนย์ฝึกซ้อม และสนามที่ได้มาตรฐานเป็นของตัวเอง รวมทั้งวิเคราะห์ถึงโอกาส และอุปสรรคต่างๆ

ภายหลังการประชุม นายสมพร เปิดเผยว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีนั้น ได้ปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ เพื่อยกระดับการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลไปสู่ระดับนานาชาติ และอาชีพมากขึ้น โดยเน้นการพัฒนาบุคลากร ทั้งนักกีฬา, ผู้ฝึกสอน และผู้ตัดสิน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ด้วย

นายสมพร กล่าวว่า ส่วนงบประมาณของสมาคมนั้น ที่ผ่านมาอาจมียอดเงินลดลงไปบ้างจากสถานการณ์โควิด-19 และยังมียอดเงินสดค้างเบิกจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กกท.อีกกว่า 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทาง กกท.เตรียมจะให้งบประมาณในการเก็บตัวฝึกซ้อมเตรียมนักกีฬา รวมกับเงินส่วนอื่นที่จะเข้ามาสนับสนุน ซึ่งสมาคมเตรียมที่จะนำในส่วนนี้มาหมุนเพื่อใช้สำหรับการเตรียมนักกีฬาทีมชาติไทยลุย 2 มหกรรมกีฬาคือ ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม วันที่ 12-23 พฤษภาคม และเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน วันที่ 10-25 กันยายนนี้

นายกลูกยางไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการเตรียมทีมก็ได้เรียกนักกีฬาเข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อม ขาดเพียงคนที่เล่นในลีกต่างประเทศทั้งที่ตุรกี, ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ส่วนโค้ชก็ได้วางแผนการฝึกซ้อม และการพัฒนาไว้แล้ว คิดว่าไม่มีปัญหา แต่มีสิ่งที่กังวลสำหรับทีมหญิงคือ ล่าสุดอินโดนีเซียถอนตัวไม่เข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ ทำให้เหลือเพียง 3 ชาติร่วมชิงชัยคือ เวียดนาม, ไทย และฟิลิปปินส์ จึงไม่แน่ใจว่าเจ้าภาพเวียดนามจะยังจัดแข่งขันทีมหญิงหรือไม่ แต่ก็ได้มอบหมายให้ เรืออากาศโท ชาญฤทธิ์ วงษ์ประเสริฐ รองประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ สหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชีย (เอวีซี) ประสานขอความร่วมมือกับทางอินโดนีเซีย เพื่อให้กลับมาเข้าร่วมการแข่งขัน

“ทางคณะกรรมการโอลิมปิก และรัฐบาลของอินโดนีเซีย มีนโยบายที่จะไม่ส่งทีมเข้าร่วมซีเกมส์ครั้งนี้จากปัญหาหลายเรื่อง ทั้งงบประมาณ และโปรแกรมแข่งขันติดกันในปีนี้ และปีหน้า ซึ่งนอกจากวอลเลย์บอลทีมหญิงแล้ว บาสเกตบอลทีมชายเขาก็ขอถอนตัวด้วย สำหรับวอลเลย์บอลทีมหญิงนั้นก็ขึ้นกับเจ้าภาพซีเกมส์อย่างเวียดนามว่าจะทำอย่างไร คาดว่าน่าจะได้คำตอบในเร็วๆ นี้ อีกทั้งซีเกมส์ครั้งต่อไปที่กัมพูชาในปี 2023 เจ้าภาพก็บอกว่าจะไม่จัดการแข่งขันวอลเลย์บอลทีมหญิง ทั้งในร่ม และชายหาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาวงการกีฬาวอลเลย์บอล” นายสมพร กล่าวปิดท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวสดกีฬา