วันนี้ (16 มกราคม 2563) เวลา 09.30 น. สำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน เปิดศูนย์ป้องกันและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2563 โดยมี นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 เป็นประธานในพิธี และนายไพฑูรย์ ศรีมุก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ครั้งนี้ หลังจากนั้นได้เปิดให้เยี่ยมชมศูนย์ พร้อมมอบนโยบายและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัด เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน
นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 เปิดเผยถึงสถานการณ์ในฤดูแล้งปี 2562/63 นี้ จัดได้ว่าเป็นปีที่วิกฤตภัยแล้งรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2558/59 ที่ผ่านมา เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563 ในเขตจังหวัด อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในเขตความรับผิดชอบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ สำนักงานชลประทานที่ 3 จึงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2563 ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.กองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563 โดยเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถแจ้งปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งสามารถขอคำปรึกษา ปัญหาเรื่องน้ำ ได้ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ และโครงการชลประทานที่อยู่ใกล้เคียง
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 เปิดเผยว่าสำนักงานชลประทานที่ 3 มีขอบเขตความรับผิดชอบทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ บริหารจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำน่านตั้งแต่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ เรื่อยมาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ ในลุ่มน้ำยมบางส่วนตั้งแต่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ถึงจุดจบกับแม่น้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และบางส่วนของแม่น้ำปิง ตั้งแต่ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากปีนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัดมีน้ำต้นทุน เพียงพอสำหรับน้ำอุปโภคบริโภค (น้ำกิน,น้ำใช้) และการรักษาระบบนิเวศ (ผลักดันน้ำเค็ม,เจือจางน้ำเสีย) เท่านั้น และไม่เพียงพอสำหรับภาคการเกษตร (ยกเว้นเกษตรต่อเนื่อง เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น ต่างๆ) และต้องสำรองน้ำต้นทุนบางส่วนสำหรับไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งมักเกิดฝนทิ้งช่วงประมาณ 1-2 เดือน ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนการระบายน้ำตามความเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้จนถึงต้นฤดูฝน
สำนักงานชลประทานที่ 3 จึงมีมาตรการ ต่างๆ เช่น ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับราษฎร/เกษตรกร โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ทางฝ่ายปกครอง (ผวจ.) กองทัพภาคที่ 3 อปท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต อย่างต่อเนื่อง และมีการหยุดการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานในพื้นที่รับผิดชอบ ประมาณ 1,300,000 ไร่ เป็นต้น เพื่อลำเลียงน้ำสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วยลดผลกระทบเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำประปาและเจือจางน้ำเค็ม
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ได้กำชับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ สำหรับการเตรียมการให้การช่วยเหลือ ได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เครื่องจักรสำหรับการขุดลอกชักน้ำในบริเวณที่มีแหล่งน้ำ และรถบรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่ายสำหรับการอุปโภค – บริโภค หากมีการร้องขอจากทางจังหวัด เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที