สองสามีภรรยา เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวปันน้ำใจ หน้าบ้าน ติดป้าย “ผู้สูงอายุ 60 ปี ทานฟรี” เนื่องจากตนเองและภรรยาเป็นคนชอบทำบุญ กำไรนิดหน่อย พอให้ครอบครัวอยู่ได้ สุขใจที่ได้ทำ และอยากช่วยผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ ลดค่าใช้จ่ายในช่วงสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถูกใจให้เยอะ ราคาถูก รสชาติอร่อย และเป็นกันเองกับลูกค้า
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ร้านก๋วยเตี๋ยวดังกล่าว ได้พบกับนายจารุพงษ์ โพธิบาย “ช่างเงาะ” อายุ 50 ปี และนางสมคิด โพธิบาย อายุ 51 ปี สองสามีภรรยา เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวดังกล่าว บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนมีอาชีพเป็นช่างประกอบเครื่องเสียง เวที รำวงย้อนยุค และงานงานอีเว้นท์ต่างๆ เมื่อได้เกิดสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้งานอีเว้นท์ต่างๆ ถูกยกเลิก ตนจึงไม่มีงานจ้าง
ประกอบกับตนและภรรยาเป็นคนชอบทำบุญ ได้เห็นว่าในจังหวัดพิษณุโลกมีตั้งตู้ปันน้ำใจช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ตนจึงได้จัดตั้งตู้ไว้หน้าบ้าน และก็ได้มีประชาชนหมุนเวียนนำของมาเติมใส่ตู้ และทำข้าวกล่องแจกประชาชนที่สัญจรผ่านมาที่บริเวณซอยขุนหาญ โดยได้เงินที่ได้รับโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” และชาวบ้านแถวนั้นนำมาบริจาค ซื้อของในการประกอบอาหารอีกด้วย จนเมื่อราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนดคลายล็อกเฟส 4 เมื่อ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ตนอยากจะทำก๋วยเตี๋ยวขาย จึงได้ลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำก๋วยเตี๋ยวเอง
ซึ่งสูตรน้ำซุป “ช่างเงาะ” ได้เป็นคนปรุงเอง เป็นสูตรลับเฉพาะตัว ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยจะมีกลิ่นหอม หวาน โดยในอาทิตย์แรกตนก็ติดป้ายประชาสัมพันธ์ โดยระบุข้อความว่า “เตี๋ยวปันน้ำใจ คนสูงอายุ 60 ขึ้น กินฟรี” ก็ได้มีประชาชนในบริเวณนั้นแวะเวียนเข้ามารับประทานจำนวนมาก ตนจึงได้ออกประชาสัมพันธ์โดยรถคู่ใจของตน รอบเมืองพิษณุโลก เพื่อให้ประชาชนคนพิษณุโลกได้รับทราบทั่วกัน
ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวปันน้ำใจ มีให้บริการเส้นเล็ก เส้นหมี่ โดยวัตถุดิบที่ตนเองเลือกใช้จะเป็นหมูเนื้อสันอย่างดี ตับหมูอย่างดี หมูบะช่อ พริกป่น และถั่วลิสงคั่วเราจะนำมาคั่วและตำกันเอง โดยจำหน่ายในราคาเพียงชามละ 28 บาทเท่านั้น เนื่องจาก ช่างเงาะอยากให้ราคาแตกต่างจากเจ้าอื่น แต่ยังเน้นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สำหรับร้านก๋วยเตี๋ยว ปันน้ำใจ ตั้งอยู่ที่บริเวณซอย ขุนหาญ 1 ถนนธรรมบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ไปจนถึง 15.00 น. หรือจนกว่าจำหน่ายหมด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 089 – 5648339 “ช่างเงาะ”